Public Relation

ธ.เกียรตินาคินภัทร  ปล่อยสินเชื่อสีเขียว 155 ล้านบาท แก่ AG Korat  บริษัทร่วมทุนระหว่าง กัลฟ์ และ อัลเตอร์วิม
4 ก.ค. 2567

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร เดินหน้าสนับสนุนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ปล่อยสินเชื่อสีเขียว มูลค่ารวม 155 ล้านบาท ให้แก่บริษัท เอจี โคราช จำกัด (AG Korat) บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท กัลฟ์1 จำกัด (GULF1) บริษัทในกลุ่ม กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และ บริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด ภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อนำไปลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power Plants) ให้โรงงานของบริษัทในกลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)(CPF) ตอกย้ำพันธกิจด้าน ESG

 

นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายวานิชธนกิจและตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สินเชื่อที่ให้กับเอจี โคราช มีวงเงินกู้ทั้งสิ้น 155 ล้านบาท สำหรับระยะเวลาดำเนินโครงการผลิตไฟ 15 ปี  โดยโครงการนี้จะช่วยเปลี่ยนผ่านธุรกิจที่เดิมใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตมาจากเชื้อเพลิง มาเป็นพลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกและโลกร้อน สอดคล้องกับพันธกิจด้านความยั่งยืนของ KKP ในการเป็นพันธมิตรที่สนับสนุนลูกค้าสู่ธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อสร้างความยั่งยืน

 

“KKP เล็งเห็นศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจของบริษัท เอจี โคราช ที่ผนึกความแข็งแกร่งของสองกลุ่มบริษัทใหญ่คือ บริษัท อัลเตอร์วิม เป็นบริษัทด้านพลังงานสะอาด ภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานทดแทนในรูปแบบอื่นๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคให้กับคู่ค้า ทั้งในและต่างประเทศ  และ บริษัท GULF1 บริษัทในกลุ่ม GULF บริษัทที่มีความชำนาญในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีเครือข่ายทางธุรกิจที่กว้างขวาง โดยสินเชื่อในโครงการนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพและรองรับการเติบโตของธุรกิจให้กับเอจี โคราช ในการดำเนินธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ และนับเป็นอีกหนึ่งก้าวของ KKP ภายใต้เป้าหมายการขยายสัดส่วนสินเชื่อสีเขียวขึ้นเป็น 15% ของพอร์ตสินเชื่อบรรษัททั้งหมดภายในปี 2026”

 

นางสาวอำนวยพร ประกอบนพเก้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท กัลฟ์1 จำกัด  กล่าวถึงการได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารเกียรตินาคินภัทรในครั้งนี้ว่า “GULF1 เป็นบริษัทในกลุ่ม GULF ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาดให้ได้ 40% ภายในปี 2035 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 GULF1 ดำเนินธุรกิจให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุกรูปแบบ ทั้งโซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ฟาร์มและโซลาร์ลอยน้ำ โดยปัจจุบันได้พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์กับกลุ่มลูกค้าหลักซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชยกรรม ในส่วนของการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 7.34 เมกะวัตต์ ภายใต้ เอจี โคราช นับเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือของ อัลเตอร์วิม และ GULF1 ซึ่งตอบโจทย์การใช้พลังงานสะอาดของทั้งสองกลุ่ม บริษัทใคร่ขอขอบพระคุณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ที่สนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Project Finance) ให้กับโครงการของ เอจี โคราช ในครั้งนี้”

 

นายบวร เพียรพงศ์พาณิช ประธานคณะผู้บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด กล่าวว่า “บริษัท เอจี โคราช เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง อัลเตอร์วิม และ กัลฟ์ ถือหุ้นโดย GULF1 ร้อยละ 50 และ อัลเตอร์วิม ร้อยละ 50 เพื่อดำเนินธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม และลูกค้าภาคธุรกิจ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา

 

บริษัทขอแสดงความขอบคุณ สินเชื่อ Green Financing จากธนาคารเกียรตินาคินภัทรที่สนับสนุนบริษัทเอจี โคราช ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะถูกนำไปลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power Plants) ให้กับโรงงานของบริษัทในกลุ่มบริษัทซีพีเอฟ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) บนพื้นดิน (Solar Farm) บนทุ่นลอยน้ำ (Floating) และที่จอดรถ (Car Park) คิดเป็นกำลังการติดตั้งรวม 7.34 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 10.45 GWh/year กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี  ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 5,688 ตันต่อปี เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และลดการปล่อยคาร์บอน เป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน เปลี่ยนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป็นไปตามแนวทางและเป้าหมายเดียวกันของการดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาดของทั้งสองกลุ่ม  อีกทั้งยังสอดคล้องและเป็นการสนับสนุนนโยบายและเป้าหมาย ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ คือ การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 และ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050  (Net Zero Emission)”  

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com