กรุงศรี ปี 67 ตั้งเป้าเติบโตด้านสินเชื่อรายใหญ่โตที่ 4-6% เผยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มงานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ชูธง ESG Finance มุ่งสร้างโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน พร้อมเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านวาณิชธนกิจที่ครบวงจร ตอกย้ำความสำเร็จในการให้บริการสินเชื่อโครงการ การซื้อขาย ควบรวมกิจการ และการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)
นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “กรุงศรีประสบความสำเร็จในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมธุรกิจให้กับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา 2566 มียอดสินเชื่อเติบโต คิดเป็นอัตราประมาณ 2.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน และยังคงให้การสนับสนุนสินเชื่อและการระดมทุนที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน อาทิ การให้การสนับสนุนสินเชื่อ และการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายพันธบัตรและหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนและเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่หลายองค์กรสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังให้การช่วยเหลือในการปรับตัวผ่านการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายความยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน โดยอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน คือการได้มีส่วนร่วมกำหนดมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และอีก 13 เครือข่ายองค์กร เพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงบริการทางการเงินที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม”
ด้วยการเติบโตของความต้องการด้านเงินทุน แนวโน้มการขยายธุรกิจสู่เวทีระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ และแนวคิดการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ดังนั้น การดำเนินงานของกลุ่มงานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจในปี 2567 นี้ตั้งเป้าการเติบโตด้านสินเชื่อที่ 4-6% พร้อมมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน พร้อมกันกับการเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านวาณิชธนกิจ เพื่อช่วยยกระดับการแข่งขันให้กับธุรกิจไทยแบบครบวงจรมากยิ่งขึ้น และเพิ่มศักยภาพการบริการด้านวาณิชธนกิจ โดยมุ่งเน้นการให้บริการด้านการให้คำปรึกษาและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ผ่านการร่วมมือกับทุกหน่วยงานของกรุงศรี กรุ๊ป เครือข่ายระดับโลกของ MUFG และเครือข่ายธนาคารพันธมิตรในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสนับสนุนการให้บริการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ครบถ้วนและตรงตามความต้องการ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การระดมทุนจากการกู้ยืม การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ (Debt Capital Markets) การทำสินเชื่อโครงการ (Project Finance/Structure Finance) ในหลายๆ อุตสาหกรรมทั้งพลังงานหมุนเวียน ศูนย์ข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน การซื้อขายและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) การระดมทุนผ่านตลาดตราสารทุน (Equity Capital Markets) โดยในปีที่ผ่านมามีการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ให้กับหลายบริษัท เช่น บริษัทสามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) (SAV) ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ โดยประกอบธุรกิจให้บริการบริหารจัดการควบคุมการจราจรทางอากาศของประเทศกัมพูชาภายใต้สัมปทานแต่เพียงผู้เดียว
สำหรับปี 2566 กรุงศรี ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้กลุ่มลูกค้าธุรกิจดำเนินธุรกิจด้านความยั่งยืนผ่านดีลสำคัญมากมาย อาทิ ผู้จัดการเงินกู้ร่วมและผู้ประสานงานด้านดัชนีความยั่งยืน สนับสนุนสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน(Sustainability-Linked Loan: SLL) ให้กับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำนวน 11,500 ล้านบาท , สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) และเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินแต่เพียงผู้เดียว ให้กับบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) จำนวน3,000 ล้านบาท , สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) แก่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) จำนวน 500 ล้านบาท , ผู้จัดการการจัดจำหน่ายพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนและเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับหลายองค์กรสำคัญได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จำนวน 3,500 ล้านบาท , บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 8,000 ล้านบาท,บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) จำนวน 7,000 ล้านบาท, บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด(มหาชน) จำนวน 1,000 ล้านบาท , บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด(มหาชน) จำนวน 500 ล้านบาท และหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Debenture) โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 6,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทางกรุงศรี ได้ระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) และตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล จำนวน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากความเชี่ยวชาญและความสำเร็จทางธุรกิจในด้าน ESG กรุงศรียังได้ให้บริการที่ปรึกษาในดีลสำคัญอีกมากมาย