บลจ. ไทยพาณิชย์ ตอบรับกระแสเรียกร้อง เปิดกองทุน SCBCR1YR ต่อเนื่อง ชูโอกาสรับผลตอบแทนส่วนเพิ่มกับดัชนี SET50 ที่มีสัญญาณฟื้นตัว พร้อมลดเสี่ยงขาดทุนเงินต้นกับเงินฝากและตราสารหนี้ เสนอขายวันที่ 17-23 กันยายน 67
นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBAM เปิดเผยว่า “ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองไทยเริ่มคลี่คลาย ทิศทางการสานต่อด้านนโยบายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ทยอยออกมา ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น โดย SCBAM ได้รับเสียงตอบรับจากนักลงทุนอย่างล้นหลามในการเสนอขายกองทุน SCBCR1YQ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีกลยุทธ์หาโอกาสรับผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทย พร้อมลดความเสี่ยงการขาดทุนเงินต้นจากการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพ และสามารถปิด IPO ได้ก่อนครบกำหนดอย่างรวดเร็ว ด้วยยอดจองซื้อกว่า 5,700 ล้านบาท SCBAM จึงขานรับกระแสต่อเนื่องด้วยการเปิดเสนอขายกองทุน SCBCR1YR หรือ “กองทุนเปิดไทยพาณิชย์คอมเพล็กซ์รีเทิร์น 1YR ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย” ซึ่งมีกลยุทธ์เดียวกันกับกองทุนที่เปิดเสนอขายก่อนหน้า โดยจะเสนอขายครั้งเดียววันที่ 17 – 23 กันยายน 2567 เริ่มต้นลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท
สำหรับกองทุน SCBCR1YR เป็นกองทุน Complex Fund อายุ 1 ปี ที่มีนโยบายลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน 2 ส่วน โดยผลตอบแทนส่วนที่ 1 มาจากดอกเบี้ยที่เกิดจากการลงทุนตราสารหนี้ระดับ Investment Grade และเงินฝากทั้งในและต่างประเทศ(*) ในสัดส่วนเงินลงทุนประมาณร้อยละ 99.85 ของทรัพย์สินกองทุน โดยกองทุนจะจ่ายผลตอบแทนพร้อมเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุโครงการ และผลตอบแทนส่วนที่ 2 (ผลตอบแทนส่วนเพิ่ม) มาจากการเข้าทำธุรกรรมสัญญาออปชั่น Digital Call สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนี SET50(*) ด้วยสัดส่วนเงินลงทุนอีกร้อยละ 0.15 ของทรัพย์สินกองทุน โดยในวันพิจารณาผลตอบแทน หากระดับดัชนี SET50 ปรับขึ้นเท่ากับหรือมากกว่า 10% จากวันที่เริ่มต้นสัญญา ผู้ถือหน่วยจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนส่วนออปชั่นตามเงื่อนไข ซึ่งกองทุนจะมีกำหนดจ่ายผลตอบแทนครั้งเดียวในวันครบอายุโครงการ (ผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลลักษณะการจ่ายผลตอบแทนของกองทุนเพิ่มเติมได้จากหนังสือชี้ชวน)
นางนันท์มนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า “การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยมีความชัดเจนขึ้น โดยการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นปัจจัยที่ภาครัฐพยายามผลักดันผ่านนโยบายต่างๆ ในระยะถัดไป เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ความช่วยเหลือด้านราคาพลังงาน และ การผลักดันการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ นอกจากนี้การเริ่มต้นวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงจากธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจเป็นช่องทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายขึ้นได้ หากเศรษฐกิจฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาด ซึ่งจะส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับขึ้นสูงกว่าระดับเป้าหมาย สร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มนอกเหนือจากโอกาสการรับผลตอบแทนที่มั่นคงจากการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพได้”