สมาคมบริษัทจัดการลงทุนเลือกตั้ง 'นางชวินดา หาญรัตนกูล' ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมต่อเนื่องวาระสอง
ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (Association of Investment Management Companies – AIMC) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ได้เลือกตั้งนายกสมาคมใหม่ และมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกนางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นนายกสมาคม ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องเป็นวาระที่สอง โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2567 เป็นต้น ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2569
นางชวินดา หาญรัตนกูล เป็นผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจจัดการลงทุนมาอย่างยาวนานโดยเริ่มงานกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2553 และดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน ในการเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุนนั้น นางชวินดา หาญรัตนกูล ได้แถลงวิสัยทัศน์และแนวทางการบริหารงานของสมาคมในระยะต่อไปว่า พร้อมที่จะสานต่อการทำงานให้เกิดความต่อเนื่องจากแนวทางที่ได้กำหนดไว้ในคณะกรรมการชุดที่ผ่านมาที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมจัดการลงทุนให้เป็นกลไกหลักสำหรับการออมและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ เติบโตควบคู่กับเศรษฐกิจไทย เพื่อคนไทยทุกคน และมีแนวคิดในการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของตลาดเงินตลาดทุนโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจะร่วมทำงานกับคณะกรรมการชุดใหม่ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาพร้อมกันนี้ทั้ง 11 ท่าน ได้แก่ 1.) กลุ่มธุรกิจกองทุนรวม มีกรรมการจำนวน 6 ท่าน
2.) กลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล มีกรรมการจำนวน 3 ท่านและ
3.) กลุ่มธุรกิจกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีกรรมการจำนวน 2 ท่าน
สำหรับการรับหน้าที่นายกสมาคมนั้น นางชวินดาเปิดเผยว่าหนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญในการดำรงตำแหน่งในวาระแรกที่ผ่านมานั้นคือการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund :ThaiESG) เมื่อปลายปีที่ผ่านมาโดยได้รับการตอบรับและแรงสนับสนุนจากภาครัฐโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ที่ลงทุน ซึ่งถือเป็นโอกาสของผู้ลงทุนไทยที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายทั้งCarbon Neutrality, Net Zero และความเพียงพอของการออมเพื่อการเกษียณของตนเอง โดยโครงการประสบความสำเร็จอย่างดีมีผู้ลงทุนกว่าหนึ่งแสนคนและยังช่วยขยายฐานให้เกิดผู้ลงทุนหน้าใหม่อีกด้วย ซึ่ง AIMC หวังว่าจะต่อยอดความสำเร็จนี้ได้ในปีนี้และต่อ ๆ ไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทย นอกจากนั้น AIMC จะมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการช่วยแก้ปัญหาความเพียงพอของการใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพภายหลังการเกษียณอายุซึ่งเป็นปัญหาอย่างเร่งด่วนของประเทศไทยที่ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aged Society) โดยสมบูรณ์ ซึ่งกลยุทธ์การขยายฐานผู้ลงทุนในกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยในเรื่องดังกล่าวได้
นางชวินดากล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันที่สูงขึ้นจากผู้เล่นหน้าใหม่ๆ AIMC จึงให้ความสำคัญกับบทบาทของสมาคมในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงรุกมากขึ้น โดยการแสวงหาโอกาสและช่องทางในการทำธุรกิจรองรับนวัตกรรมการให้บริการและการเปลี่ยนแปลงของตัวกลางรวมไปถึงส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น Digital Assets, Complexed Products และแสวงหาตลาดใหม่เพื่อสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรม และยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันได้ของบุคลากรในอุตสาหกรรม ทั้งทางด้านกฎระเบียบ (compliance) เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้ให้บริการที่ดี มีกระบวนการปฏิบัติงาน (Operation) ที่มีนวัตกรรม มีประสิทธิภาพ โปร่งใส มีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การใช้งานปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องมือ (AI & Machine Learning) ที่ทันสมัย ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนและมีระบบรักษาความปลอดภัยที่เชื่อถือได้
นางชวินดากล่าวทิ้งท้ายว่า AIMC จะมุ่งมั่นรักษามาตรฐานระดับสากลในการกำกับดูแลสมาชิกผู้ประกอบธุรกิจให้มีมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดี ให้ความสำคัญกับความร่วมมือจากบริษัทสมาชิก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมและตลาดทุนไทย รวมถึงกรณีที่เกิดความบกพร่องทุจริตผิดจริยธรรม AIMC จะใช้แนวทาง Collective engagement ของอุตสาหกรรมมี dialogue และ engagement กับผู้ประกอบธุรกิจอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง เป็น market force ผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการมีจริยธรรมการประกอบธุรกิจและการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล และหากจำเป็นก็จะรวมตัวกันเพื่อแสวงหาความยุติธรรม รักษาและปกป้องสิทธิให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน