“วัน แบงค็อก พาวิลเลียน” ต้นแบบของการใช้ศิลปะและการออกแบบ
เป็นพลังขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ ใน Bangkok Design Week 2024
ปิดฉากแล้วอย่างสวยงามสำหรับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 หรือ Bangkok Design Week 2024 ที่ในปีนี้ วัน แบงค็อก (One Bangkok) โครงการอสังหาริมทรัพย์ต้นแบบกรีนสมาร์ทซิตี้ใจกลางกรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด The Heart of Bangkok ที่ยึดเอาหัวใจของผู้คนเป็นศูนย์กลาง ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงพื้นที่ โดยเนรมิตบริเวณหน้าอาคารที่ทำการไปรษณีย์กลางบนถนนเจริญกรุงให้เป็น “วัน แบงค็อก พาวิลเลียน (One Bangkok Pavilion)” เพื่อแสดงพลังในการสร้างสรรค์เมืองน่าอยู่ ผ่านความร่วมมือร่วมใจกัน (Collaboration) เป็นหนึ่งเดียวระหว่าง วัน แบงค็อก เหล่าบรรดาศิลปิน-นักออกแบบ และผู้เข้าชมงาน ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม ถึง 4 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
ตลอด 9 วันของการจัดงาน มีผู้ให้ความสนใจแวะเวียนเข้ามาชม วัน แบงค็อก พาวิลเลียน กันอย่างคึกคัก โดยพาวิลเลียนแห่งนี้ได้รับการรังสรรค์ให้เป็น Inspiring Urban Canvas หรือผืนผ้าใบชิ้นใหญ่ให้ทุกคนได้เข้ามาแต่งแต้มสีสัน เติมความมีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่จำลองซึ่งเป็นตัวแทนของเมือง พร้อมกับถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนไอเดียของเมืองน่าอยู่ร่วมกัน โดยวัน แบงค็อก ได้จับมือกับ Supermachine Studio สตูดิโอดีไซน์ชื่อดังเจ้าของรางวัลระดับโลก ในการออกแบบพาวิลเลียนให้มีรูปทรงคล้ายกับปราสาท โดยดึงเอาแรงบันดาลใจมาจากบล็อกไม้ (Wooden Block) เปรียบเทียบรูปทรงเรขาคณิตที่มีความแตกต่างหลากหลายกับการสร้างเมืองที่ต้องอาศัยความมีส่วนร่วมของทุกคน พร้อมทั้งยกขบวนกว่า 11 โปรแกรมด้านศิลปะและการออกแบบมาสร้างความสุขให้กับผู้ร่วมงาน และสะท้อนถึงแนวคิดการนำศิลปวัฒนธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของวัน แบงค็อก โดยทุกๆ กิจกรรมเปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมสนุกและมีปฏิสัมพันธ์ได้ตลอดเวลา รวมถึงจุดประกายความคิดให้แต่ละคนสามารถตีความได้ในแบบของตนเอง
หนึ่งในกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์หลักของงานคือเกมกระโดดแบบร่วมสมัยบนจออินเทอร์แอคทีฟ ที่ Kids Bloom และ Yimsamer สองมัลติมีเดียเอเจนซีผู้เชี่ยวชาญด้านงานอิมเมอร์ซีฟ รับหน้าที่ในการออกแบบ โดยได้ไอเดียมาจาก “ตั้งเต” ที่เล่นกับรูปทรงง่ายๆ อย่างรูปทรงเรขาคณิต แล้วคิดต่อยอดให้เกิดเป็นพื้นที่พาวิลเลียนที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้อย่างไม่หยุดนิ่ง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมป๊อปอัพมากมายที่สลับสับเปลี่ยนมาไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน ซึ่งให้ทั้งความสนุกและช่วยส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เมืองให้เกิดศักยภาพ ได้แก่
กิจกรรม Live Paint “Here, There: Art Is Everywhere” โดยศิลปิน BIGDEL และ MRKREME สองศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อดังของเมืองไทยจาก Bride Art Agency ที่มาวาดลวดลายกราฟิตี้อันเป็นเอกลักษณ์บนตัวบล็อกของพาวิลเลียนให้ชมกันแบบสดๆ ซึ่งจะนำมาจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของ วัน แบงค็อก
เวิร์คช็อปศิลปะ History On Screen โดย TNT SCREEN โรงงานซิลค์สกรีนชื่อดังของกรุงเทพฯ และ Tosmile28 ช่างสักเจ้าของลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้มาร่วมพิมพ์ภาพซิลค์สกรีนแบบไม่ซ้ำใคร ด้วยลวดลายที่สื่อถึงประวัติศาสตร์ของถนนวิทยุและพระราม 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการวัน แบงค็อก พร้อมเพิ่มความสดชื่นระหว่างกิจกรรม ด้วยการเสิร์ฟโซดาข้าวตัง (Pop Rice Soda) ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาใหม่โดย Aircraft Cola โคล่าสดแบรนด์แรกของกรุงเทพฯ
การแสดงเพอร์คัสชันจาก Tiger Drum Thailand ที่อัดแน่นไปด้วยพลังอันเต็มพิกัดของกลุ่มนักแสดงซึ่งเดินทางไปสร้างความตื่นตะลึงมาแล้วมากมายบนเวทีระดับโลก โดยจังหวะอันเร้าใจและลีลาในการเคลื่อนไหวของโชว์นี้สามารถสร้างบรรยากาศคึกคักให้กับพื้นที่โดยรอบพาวิลเลียนได้เป็นอย่างดี
8 ดีเจจาก Bangkok Community Radio แพลตฟอร์มเครือข่ายสำหรับศิลปิน นักดนตรี และดีเจในพื้นที่กรุงเทพฯ ตบเท้าเข้ามาบอกเล่าเรื่องราวของศิลปะในรูปแบบของเสียงเพลง โดยผลัดกันมาขับกล่อมบรรยากาศยามค่ำคืนของพาวิลเลียนให้ไม่เงียบเหงา พร้อมทั้งเปิดโลกแห่งการฟังดนตรีแนวใหม่ๆ ให้กับผู้ที่แวะเวียนผ่านไปมา
กิจกรรม Urban Swing Dancing เปิดฟลอร์แห่งความสนุกให้ทุกคนลุกขึ้นมาเต้น กับคลาสสอนสวิงแดนซ์แบบพื้นฐานโดยเหล่านักเต้นผู้เปี่ยมแพสชั่นจาก Jelly Roll Dance Club และนักดนตรีสวิงแจ๊ซสายเอนเตอร์เทนแห่งวง The Stumbling Swingout
ศิลปะการแสดงสำหรับเด็กชุด “Other World: The Blocs Presented” โดยเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ (BICT Fest) และ เทศกาลศิลปะการแสดงร่วมสมัยนานาชาติ (BIPAM) สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองและพื้นที่สาธารณะผ่านการแสดงที่ส่งเสริมการเล่นและการปลดปล่อยจินตนาการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกมุมเมืองสามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ได้
กิจกรรม Live Paint + Music ที่ รศ. ดร. ภาธร ศรีกรานนท์ นักดนตรี-นักประพันธ์ เจ้าของรางวัลการันตีระดับนานาชาติ มาร่วมถ่ายทอดความรู้สึกผ่านท่วงทำนองที่บอกเล่าเรื่องราวความวุ่นวายของเมืองหลวงและความรู้สึกของเมืองในฝัน ให้กังวานสอดประสานไปกับภาพวาดฝาแฝดมะเขือเทศ “Tomato Twins” สองคาแรกเตอร์แก้มแดงสุดไอคอนิกโดยศิลปิน S I R I
การแสดง Interactive Movement ชุด “Cityscape Crimson” โดยเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ (BICT Fest) และ เทศกาลศิลปะการแสดงร่วมสมัยนานาชาติ (BIPAM) ซึ่งเล่าเรื่องเมืองผ่านองค์ประกอบแบบอินเทอร์แอคทีฟ เชิญชวนให้ผู้ชมดำดิ่งสู่ประสบการณ์สุดสร้างสรรค์ พร้อมปรับมุมมอง เปลี่ยนโลกหลากสีสันให้อาบด้วยสีแดงเพื่อสำรวจย้อนมุมมองของการมองเมือง
ปิดท้ายด้วยอีกกิจกรรมไฮไลต์ที่สร้างความตื่นตาและแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่มาร่วมงานในช่วงสุดสัปดาห์สุดท้ายอย่าง Projection Mapping Visualizing Central Post, Coloring Live Performance ที่ Kids Bloom และ Yimsamer รับหน้าที่ครีเอทการแสดงฉายแสงสีขึ้นบนหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง วาดลวดลายให้กับตึกสุดคลาสสิกแห่งนี้ในยามค่ำคืน พร้อมกับเพิ่มความเต็มอิ่มให้กับบรรยากาศด้วยซาวด์เพลงที่ช่วยสร้างความประทับใจ
จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม และรองผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการสื่อสารและประชาสัมพันธ์แบรนด์เชิงกลยุทธ์ โครงของการ วัน แบงค็อก กล่าวถึงความสำเร็จในการจัด “วัน แบงค็อก พาวิลเลียน” ว่า “วัน แบงค็อก ร่วมสนับสนุนเทศกาล Bangkok Design Week มาแล้วต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วยความตั้งใจที่ต้องการพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยใช้ศิลปะ วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ เป็นกลไกขับเคลื่อน พร้อมทั้งตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของโครงการฯ ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ของไทย โดยทำงานกับคอมมูนิตี้และศิลปินหลากหลายแขนง เพราะเชื่อว่าความร่วมมือร่วมใจกัน (Collaboration) คือหัวใจหลักของการขับเคลื่อนเมืองที่มีศักยภาพ เรายินดีอย่างยิ่งที่วัน แบงค็อก พาวิลเลียน ได้กลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนเข้ามาแสดงความคิดสร้างสรรค์ ดื่มด่ำกับความสวยงามของการใช้ชีวิต ตลอดจนรับแรงบันดาลใจใหม่ๆ และส่งต่อพลังของการมีส่วนร่วมไปสู่วงกว้าง นอกจากนี้ วัน แบงค็อก จะนำผลงานศิลปะที่เหล่าศิลปินได้ร่วมรังสรรค์ไว้ในงานนี้ไปจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งในโครงการฯ และจะยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกับเหล่าศิลปินและครีเอเตอร์อย่างต่อเนื่องไปถึงในอนาคต เพื่อให้เรื่องราวของเมืองน่าอยู่ที่ปรากฏใน วัน แบงค็อก พาวิลเลียน วันนี้ กลายเป็นเวอร์ชั่นที่ใหญ่และสมบูรณ์ยิ่งขึ้นที่โครงการ วัน แบงค็อก”