ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกาศตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Commitment) ขององค์กรภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) โดยการกำหนดเป้าหมายได้อิงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ (climate science) ที่สอดคล้องกับมาตรฐาน The Science Based Target initiative (SBTi) Net-Zero Standard และนำไปสู่แผนดำเนินงานระยะยาว เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การดำเนินการนี้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการขับเคลื่อนความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอกองค์กร และสนับสนุนความพยายามในการควบคุมให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วิกฤตโลกร้อนเป็นภาวะเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะผู้มีบทบาทส่งเสริมตลาดทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตลอดทั้งกระบวนการทำงานขององค์กร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานี้
“การตั้งเป้าหมาย Net Zero สะท้อนถึงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่น ในการร่วมแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน ซึ่งนำไปสู่การวางแผนการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าหมายบรรลุ Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ตามมาตรฐานของ SBTi ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับและใช้อย่างแพร่หลายในระดับสากล โดยการตั้งเป้าหมายนี้จะครอบคลุมทั้งขอบเขตที่ 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากกิจกรรมขององค์กร ขอบเขตที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน และขอบเขตที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้กำหนดแผนดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั้งการบริหารจัดการภายในองค์กร และสร้างความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่า ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ” นายภากรกล่าว
ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กร ทั้งจากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ จนได้รับการรับรองอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมมาตรฐานสากล LEED Platinum: Operation and Maintenance (O+M) ระดับสูงสุด จาก U.S. Green Building Council (USGBC) นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมแนวปฏิบัติการจัดหาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) เพื่อเป็นทางเลือกในการจัดหาสินค้าและบริการ และการลดการใช้กระดาษด้วยบริการนำส่งเอกสารสิทธิหรือรายงานต่างๆ ให้แก่ผู้ถือหุ้นในการให้บริการงานนายทะเบียนหลักทรัพย์ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) แทนการจัดส่งทางไปรษณีย์ สะท้อนถึงการให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social, Governance: ESG) ให้แก่บริษัทจดทะเบียนและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในตลาดทุน ควบคู่การส่งเสริมให้นำหลักการดังกล่าวมาบูรณาการในกระบวนการดำเนินงานให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และสามารถปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยส่งเสริมความรู้มาอย่างต่อเนื่องในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การวิเคราะห์และบริหารความเสี่ยง การคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจก และการบริหารจัดการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก