สำนักข่าว Clubhoon ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ต่อมุมมองการวิเคราะห์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ถูกฉุดรั้งด้วยปัจจัยอะไร และตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นยืนเหนือดัชนี 1,700 จุดในช่วงที่ผ่านมา ไปต่อได้แค่ไหน ทำไมไม่ทำนิวไฮเหมือนตลาดหุ้นที่อื่น ว่า
แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังมีหลายปัจจัยใหญ่ๆที่คอยฉุดรั้งการฟื้นตัวอยู่และกระทบต่อตลาดการเงินตลอดทั้งปีนี้ เรื่องแรก หลังการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนวงกว้าง ตั้งแต่ไตรมาสแรก ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด -19 เพิ่มขึ้นหลักหมื่นรายต่อวัน ทำให้โมเมนตัมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสะดุด จึงมองภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจดูไม่ชัดเจน
เรื่องที่สอง ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลกแม้ที่ผ่านมาจะมีการรับรู้ล่วงหน้าตั้งแต่ปีที่แล้วก็ตาม โดยสหรัฐที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจร้อนแรง ตัวเลขเงินเฟ้อสูงมาก (ล่าสุด เดือน ธ.ค. 2564 เงินเฟ้อทั่วไป 4.9% สูงสุดรอบเกือบ 40 ปี) ที่คาดว่าจะเห็นธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ปรับขึ้นดอกเบี้ยจำนวนถึง 6 ครั้ง จากเดิมคาดการณ์ 4 ครั้งในรอบปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.00 – 0.25% ซึ่งหาก FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. นี้ตามคาดการณ์ของตลาด จะกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 2 อย่างเต็มๆเป็นต้นไป ซึ่งหมายถึงต้นทุนทางการเงินต่างๆจะขยับขึ้น
เรื่องที่สาม ราคาน้ำมันสูงต่อเนื่อง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของปัญหาความขัดเย้งภูมิรัฐศาสตร์ ยิ่งล่าสุดเกิดคู่กรณี รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งราคาน้ำมันสูง รัฐบาลอาจต้องเข้ามาแทรกแซงออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน ขณะที่การใช้งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มแผ่วลง เพราะฉะนั้นฉุดกำลังซื้อทั้งทางตรงและทางอ้อม แนวโน้มด้านการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลอ่อนตัว
เรื่องที่สี่ เสียงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง เป็นปัจจัยที่มาแน่นอนและจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นในครึ่งปีหลัง ซึ่งจะกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ ในการวางแผนการลงทุนและการขยายธุรกิจในปีนี้ อาจจะต้องเลื่อนออกไปก่อนและรอดูสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง
“ปีนี้ตลอดทั้งปี เศรษฐกิจไทยคงยังกระท่อนกระแท่นอยู่ เพราะครึ่งปีแรกการฟื้นตัวก็มีแรงต้านแล้วจากโควิด และราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้น พอเข้าสู่ครึ่งปีหลัง ก็มีผลกระทบจากดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง และมีเรื่องการเลือกตั้งที่มีโอกาสเกิดสูงมาก ขณะที่เรื่องการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงอยู่ต่อเนื่อง ด้านรัฐบาลมีแต่ออกมาตรการระยะสั้น เช่น คนละครึ่ง ซึ่งประชาชนก็ต้องมาจ่ายหนี้ในอนาคตอยู่ดี หรือแม้แต่มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวก็ตาม จะเห็นว่า ยังไม่ได้มีการวางยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาว “
ทำไมต้นปีนี้ ตลาดหุ้นไทยถึงปรับตัวขึ้นสูง และนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องโดยล่าสุดดัชนียืนเหนือ 1,700 จุด
ดร.ศุภวุฒิ วิเคราะห์ว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมา หุ้นส่วนใหญ่ที่ปรับตัวขึ้นเป็นหุ้นพลังงานเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันขึ้น โดยดัชนีตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันปรับตัวขึ้นราว 2.6% จากปลายปี ธ.ค. 2564 ที่ดัชนีอยู่ระดับ 1,653 จุด มาอยู่ที่บริเวณ 1,713 จุด
ความจริงแล้ว ภาพรวมตลาดหุ้นไทยถือว่า ปรับตัวขึ้นมาช้ามากและยังไม่เท่าช่วงก่อนโควิด ขณะที่ตลาดหุ้นหลายแห่งปรับตัวขึ้นทำนิวไฮช่วงก่อนโควิดกันแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปี 2561 ดัชนีขึ้นไปสูงสุด (นิวไฮ) ราว 1,830 จุด (28 ก.พ. 2561) และปัจจุบันอยู่ราวๆ 1,713 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าระดับนิวไฮครั้งล่าสุด
ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนี S&P 500 สิ้นปี 2561 อยู่ที่ราว 2,747 จุด ปัจจุบันอยู่บริเวณ 4,349 จุด ปรับตัวขึ้นเกือบ 1,600 จุด หรือ 58% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว สะท้อนตามปัจจัยพื้นฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นในช่วงหลังโควิดแล้ว ที่ตลาดหุ้นสหรัฐทำนิวไฮช่วงก่อนโควิดไปแล้ว
“ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นช้ามาก และล้าหลังหลายๆตลาดหุ้นที่ปีที่แล้วทำนิวไฮแซงช่วงก่อนโควิดแล้ว สะท้อนภาพประเทศไทย underperform และทำให้นักลงทุนต่างชาติมองว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าสุด และปีนี้มีโอกาสที่ผลประกอบการบจ. จะดีขึ้นได้ เงินต่างชาติจึงไหลเข้าช่วงนี้ เพราะคิดว่าไทยเพิ่งมี pent up demand เกิดขึ้น เหมือนสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว ที่มีทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วและแรง แต่หากประเมินจากสถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องเผชิญ 4 ปัจจัยใหญ่(ข้างต้น) จะดันให้ตลาดหุ้นไปแค่ไหนตอบยากเหมือนกัน เพราะต้องเจอทั้งดอกเบี้ยขาขึ้นและราคาน้ำมันขึ้น และจริงๆแล้ว เงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาช่วงนี้ แค่จิ๊บๆเท่านั้น”
ดร. ศุภวุฒิ ชี้โจทย์เศรษฐกิจที่ยังคาราคาซังของประเทศไทยและทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนคนไทยที่สูงขึ้น โดย ธปท. รายงานว่า ณ สิ้นไตรมาส 3 /2564 อยู่ที่ระดับ 14.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 89.3%ต่อ GDP ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ เมื่อรวมกับปัจจัยดอกเบี้ยขึ้น และราคาน้ำมันแพง ซึ่งกดดันการฟื้นตัวภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคาดหวังภาคท่องเที่ยวปีนี้จะกลับมาฟื้นตัวได้และช่วยหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี ซึ่งคงต้องติดตามดูสถานการณ์ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทยมากน้อยอย่างไรและนักท่องเที่ยวไทยจะมีกำลังซื้อเพียงพอช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างไรกันต่อไป
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตจากภายนอกประเทศ คือ ภาคการส่งออกขยายตัว 4.9% และการนำเข้าเติบโต 5.9% ส่วนภาคท่องเที่ยวกลับมาเติบโต 1.5% ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยปีนี้ ภายใต้ GDP เติบโตในกรอบ 3.5% - 4.5%