Interview

สัมภาษณ์พิเศษหุ้นน้องใหม่ IPO ‘DTCENT’ ‘ทศพล’ เปิดใจจุดแข็ง-จุดอ่อนธุรกิจ GPS คู่ IoT โตไกล
1 พ.ย 2565

นับถอยหลังอีกไม่นาน หุ้นน้องใหม่ “DTCENT” ก็เตรียมลั่นระฆังเข้าตลาดหุ้นไทยอยู่ในหมวดอุตสาหกรรม  TECH  ภายในช่วงโค้งท้ายปีนี้ หลังจากที่ผู้บริหาร “DTCENT” เดินสายโรดโชว์ให้ข้อมูลให้แก่นักลงทุน นักวิเคราะห์ อย่างจุใจ ซึ่งก็มีหลายค่ายออกมาคาดการณ์ราคาหุ้น IPO น่าจะเฉลี่ยหุ้นละ 3.06 - 3.30 บาท โดยมีจำนวนหุ้น IPO ราว 305 ล้านหุ้น นักลงทุนเฝ้ารอลุ้นราคาเคาะที่ใกล้จะออกมาเร็วๆ นี้

 

ว่าหุ้นใหม่ป้ายแดง “DTCENT” มีอะไรเป็นจุดแข็งไฮไลท์ของธุรกิจและจุดเสี่ยงอยู่ตรงไหนกับการรับมือบริการจัดการเอาอยู่บ้าง  “คลับหุ้น” ได้สัมภาษณ์ซีอีโอหนุ่มไฟแรง “ทศพล คุณะเพิ่มศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดี.ที.ซี. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำระบบติดตามยานพาหนะ (GPS Tracking) เบอร์หนึ่งในไทย และดำเนินธุรกิจนี้มานานกว่า 25 ปีแล้ว มาเปิดอกพูดคุยกันอย่างไม่กั๊ก

 

จุดแข็งแรก DTCENT  ดำเนินธุรกิจหลักมาจากการจัดจำหน่ายและให้บริการอุปกรณ์ติดตามรถ GPS Tracking ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การออกแบบ ผลิต จัดจำหน่ายและให้เช่าอุปกรณ์ติดตามยานพาหนะ สินค้าหลักคือตัว GPS Tracking  และ อุปกรณ์ติดตามยานพาหนะประเภทกล้องบันทึกภาพ (Mobile DVR) และ 3 อุปกรณ์เสริมการทำงาน GPS Tracking   ประเภทต่างๆ (Options)

 

อีกธุรกิจคือ ออกแบบและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์พื้นฐานสนับสนุนการใช้งานธุรกิจ GPS และซอฟต์แวร์ที่รองรับการขนส่ง รวมถึงมีบริษัทย่อยพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ด้านอื่นๆ เช่น ระบบบริหารจัดการขนส่ง (TMS)  การบริหารจัดการกิจกรรมทางธุรกิจ (BAMS) ระบบข้อมูลแผนที่ (DeeMap)

 

และธุรกิจบริการพัฒนา IoT Solution ตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะเป็นทั้งผู้ออกแบบและพัฒนาโครงการฯ และระบบ AI ตามออเดอร์ลูกค้า

 

 

“จากกฎหมายการขนส่งกำหนดให้รถบางประเภท อาทิ รถบรรทุก จะต้องติดตั้ง GPS Tracking เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ จึงทำให้เรามีฐานลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่คาดหวังได้ และกรมการขนส่งทางบก มีแผนจะเพิ่มการบังคับใช้ GPS Tracking ให้รถหลากหลายประเภทมากขึ้น อีกทั้งลูกค้ามีความต้องการควบคุมต้นทุนการขนส่งด้วย จึงทำให้ตลาดนี้ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก  เรามีโอกาสขยายฐานลูกค้าที่กว้างขึ้นได้อีก ที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์ของเรา พัฒนาโดยทีมงานฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัทเอง และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง“

 

“ทศพล” ย้ำว่า DTCENT  สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ พัฒนาสินค้าฮาร์ดแวร์ ระบบซอฟต์แวร์ ตลอดไปจนให้บริการซ่อมบำรุงหลังการขาย รวมถึงการบริการแบบ Onsite ตลอด 24 ชั่วโมง เรียกว่า สั่งสมความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้ามายาวนานกว่า 25 ปีแล้ว

 

จุดแข็งที่สอง แผนดำเนินงานในอนาคตที่จะเพิ่มโอกาสการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ  โดยเฉพาะการเติบโตของธุรกิจ IoT Solution ที่รับงานตามความต้องการของลูกค้า  ซึ่งจะมีงานภาครัฐเดินหน้าโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในเขตเทศบาลในจังหวัดต่างๆ  ถือเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตของฝั่งธุรกิจ IoT Solution อย่างมาก ยิ่งตอนนี้หลังโควิดคลี่คลาย แต่ละเทศบาลก็พร้อมใช้งบประมาณในการลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อปรับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร  ทำให้กลุ่มบริษัทเข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆ ถือเป็นโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

 

สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ IoT Solutions เพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น  ระบบบริหารจัดการน้ำ , EV Platform ,BAMS Business Activity Management System สำหรับกลุ่มเฉพาะ คาดจะออกจำหน่ายได้ในปีนี้ และ UDEE หรือ อยู่ดี ที่กำลังพัฒนาร่วมกับทางพันธมิตรใหญ่ “บุญรอด ซัพพลาย เชน”  นอกจากนี้ และ DTCENT อาจมีการลงทุนในธุรกิจที่คล้ายคลึงและเกี่ยวเนื่องเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและโอกาสการขยายธุรกิจไปในระดับภูมิภาคอาเซียน

 

จุดแข็งที่สาม DTCENT มีพันธมิตรธุรกิจ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ คือ บริษัท ยาซากิ เอ็นเนอร์จี ซิสเท็ม คอร์ปอเรชั่น (YES) สัญชาติญี่ปุ่นที่เป็นผู้ผลิตสายไฟในรถยนต์รายใหญ่ของโลก ถือหุ้นใหญ่ใน DTCENT สัดส่วน 18% รองจากอันดับหนึ่ง คือ ครอบครัวนายทศพล และนางสาวจิราพร ลายลักษณ์ ส่วนพันธมิตรอีกราย คือ บริษัท บุญรอด ซัพพลาย เชน จำกัด หรือ BRS (บริษัทในกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ ) โดยถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 15% อยู่อันดับสอง

 

ทั้งนี้ โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ DTCENT หลังจากกระจายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะมีทุนจดทะเบียนแล้ว 602.5 ล้านบาท จำนวนหุ้น 1,205 ล้านหุ้น จากปัจจุบัน 450 ล้านบาท จำนวน 900 ล้านหุ้น โดยผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO ครอบครัวนายทศพลและนางสาวจิราพร ถือหุ้น 48.93%  ยาซากิ ถือหุ้น 13.44% และบุญรอดฯ ถือหุ้น 11.20%

 

ปัจจุบัน DTCENT มีแผนความร่วมมือกับทั้ง 2 พันธมิตร โดยความร่วมกับ BRS จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางด้าน Supply Chain Solution  และยังมีแผนความร่วมมือกับ “ยาซากิ” ในการเสริมสร้างและพัฒนาให้ DTCENT เป็น Tier - 1 Supplier ในการดำเนินธุรกิจ OEM (รับจ้างผลิต)ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  

 

“ที่ผ่านมาเรามีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ อยู่ต่อเนื่อง ไม่ว่าเป็นตัว GPS หรือ Mobile DVR หรือ Image processing ที่เป็นกล้องมาสแกนหน้าคนขับ หากคนขับหลับก็จะมีเสียงร้องเตือนในรถ และอีกโปรดักส์ที่เขาใช้คำว่า Connected สำหรับเชื่อมต่อตัวรถกับศูนย์บริการต่างๆ  เช่น ศูนย์บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน รองรับกรณีเกิดอุบัติเหตุ ศูนย์บริการรถที่ต้องการดูแลลูกค้าหลักการขาย เหมือนการทำ CRM  ซึ่งหากมีความร่วมมือเกิดขึ้นจะถือว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่เพราะเป็น OEM ระดับ tier 1 คือ ติดตั้งจากสายการผลิต   ที่จะสร้างรายได้เข้ามาอีกทาง คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า”

 

 

จุดแข็งข้อที่สี่ ความแข็งแกร่งด้านการเงินของ DTCENT  มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและศักยภาพในการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ จากประสบการณ์ดำเนินธุรกิจที่ยาวนานกว่า 25 ปี และปีนี้ ธุรกิจ GPS Tracking ฟื้นตัวกลับมาได้หลังสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลงในปีนี้ ทำให้มีรายได้หลักๆ จากการขายอุปกรณ์ และรายได้จากการบริการ ทั้งการใช้ระบบ GPS Tracking และการให้เช่าอุปกรณ์ 2) รายได้จากกลุ่มบริษัทย่อยที่จำหน่าย Software และ Application ใหม่ปีนี้ และ 3) กลุ่มงาน IoT Solution ของภาครัฐ เริ่มเปิดประมูลมากขึ้น โดยมีงานเทศบาลหลายแห่งที่ได้เข้ามาแล้ว

 

โดยผลดำเนินงานล่าสุด งวด 6 เดือน ปี 2565 มีรายได้จากการขายและบริการกว่า 321 ล้านบาท  อัตรากำไรขั้นต้นหรือ GPM (Gross Profit Margin) 52.04% กำไรก่อนหักต้นทุนการเงินและภาษีเกือบ 53 ล้านบาท กำไรสุทธิ 37.6 ล้านบาท  ปีนี้ถือว่าผลดำเนินงานฟื้นตัวกลับมาได้แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทอยู่ที่ระดับ 49-50% อ่อนลงจากค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังที่ 56% เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรม แต่งาน IoT Solution ที่มีมาร์จิ้นราว 30% ซึ่งจะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นในปีนี้

 

ส่วนความมั่นคงทางการเงิน ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนระดับต่ำแค่  0.48 เท่า ดีขึ้นจากสิ้นปี 2564 ที่อยู่ระดับ  0.53 เท่า ขณะที่ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 13.61% ขณะที่ด้านสภาพคล่องของบริษัทเพิ่มขึ้นสิ้นปี  2564 มีอัตราส่วนสภาพคล่องถึง 2.66 เท่าและไตรมาสแรกก็เพิ่มขึ้นมาราว 2.77 เท่า ซึ่งสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นมาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดมากขึ้น รวมถึงหนี้สินหมุนเวียนก็ลดลงจากสิ้นปีที่แล้วด้วย ภาพรวมฐานะทางการเงิน ตอกย้ำว่า DTCENT  มีสภาพคล่องมากเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจต่อในอนาคต

 

และจุดแข็งที่ห้า DTCENT  เป็นผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจ GPS Tracking มาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มมีการบังคับใช้ตามข้อกฎหมาย และมีความเชี่ยวชาญในการทำอุปกรณ์ GPS ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และสามารถทำได้ทันกับความต้องการ มีการให้บริการลูกค้าอย่างครบวงจรตลอดจนการซ่อมบำรุงหลังการขาย ที่สำคัญทั้งผู้บริหารและทีมงานมีความเชี่ยวชาญมากกว่า 25 ปี โดยทีมงานฝ่ายเทคโนโลยีที่พัฒนากว่า 69 คนหรือ 1 ใน 4 ของพนักงานทั้งหมด

 

ส่วนด้านความเสี่ยงของธุรกิจ และกลยุทธ์การรับมือพร้อมปักหมุดยุทธศาสตร์ที่มั่นคง ซีอีโอหนุ่ม ฉายภาพว่า แน่นอน เราต้องเจอกับภาวการณ์แข่งขันสูงทั้งด้านราคาและสินค้าบริการ ในช่วงปี 2560-2565 ตลาดอุปกรณ์ติดตามยานพาหนะ หรือ GPS Tracking ตลาดมีการแข่งขันสูงขึ้นอย่างมาก จากผู้ให้บริการด้าน GPS หรือ GPS Vendor ที่เชื่อมต่อข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบกเพิ่มขึ้น จาก 125 ราย ณ เดือนเม.ย. 2560  เพิ่มเป็น 199 รายในเดือนมี.ค. 2565  ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท DTCENT  มีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ของผู้ให้บริการ GPS ในไทย  เมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีมาร์เก็ตแชร์ 10.20% ของจำนวนผู้ให้บริการ

 

“แต่แม้จะมีการแข่งขันในตลาดรุนแรงก็ตาม เราก็มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจเราโดยรวม เพราะลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เน้นเรื่องคุณภาพสินค้าและบริการหลังการขายมากกว่าเรื่องราคา จึงเป็นจุดแข็งเราอยู่แล้ว  ที่สำคัญ เรามีการติดตามความเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างใกล้ชิดและมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขายทุกเดือน เพื่อให้เรามีสินค้าและเงื่อนไขการขายที่สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่นได้”

 

ส่วนความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว เป็นธรรมชาติของธุรกิจนี้อยู่แล้ว ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของผู้บริหารและทีมบุคลากรโดยเฉพาะทีมเทคโนโลยีที่มีเกือบ 70 คน ล้วนมีศักยภาพพร้อมและยังมีการศึกษางานในต่างประเทศอยู่ประจำ พร้อมกับมีการประเมินสถานการณ์ตลาดอยู่เสมอ จึงทำให้สามารถปรับตัวและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมา และที่สำคัญ ยังมีการวางแผนการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าให้สอดคล้องกับแผนการผลิต การสต๊อกสินค้าคงคลังที่เหมาะสมและป้องกันความเสี่ยงจากสินค้าที่ล้าสมัยจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปหรือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป  ผมมองว่า ความเสี่ยงในด้านนี้เราพยายามควบคุมดูแลให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดและปรับตัวให้เร็วสุดทันสถานการณ์ตลาด

 

ส่วนความเสี่ยงด้านทีมบุคลากรเทคโนโลยีที่ชำนาญเฉพาะด้านเช่น พนักงานวิจัยและพัฒนา หรือ R&D พนักงานเขียนโปรแกรม ซึ่งมีจำนวนราว 69 คนในเวลานี้ เรามีการวางแผนอัตรากำลังพลให้เพียงพอและเหมาะสมกับปริมาณงาน มีการพัฒนาความรู้และเพิ่มทักษะที่จำเป็นให้แก่พนักงาน รวมถึงการส่งเสริมให้ทำงานเป็นทีม พนักงานจะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอต่างๆ เพื่อให้เชื่อมต่อพนักงานทุกระดับและสามารถทำงานแทนกันได้ มีการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินเหมาะสมและแข่งขันกับบริษัทอื่นได้

 

ความเสี่ยงสุดท้ายเป็นเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้า  ซึ่งเรามีการให้บริการลูกค้าตามสัญญา มีทั้งแบบรายเดือน รายปี  บริษัทได้มีการจัดวางระบบเครดิตเทอมการชำระเงินให้ลูกค้าเป็นช่วงเวลา 30-90 วัน ขึ้นกับลักษณะเงื่อนของธุรกิจลูกค้าด้วย  อีกทั้งยังมีฝ่ายติดตามลูกหนี้อย่างเข้มแข็ง พร้อมที่จะดำเนินการตามกระบวนการตามหนี้จนถึงตามกฎหมาย ล่าสุด (สิ้นมีนาคม 2565)บริษัทมีลูกหนี้คงค้าง 182 ล้านบาท ขณะเดียวกัน มีการตั้งค่าเผื่อขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นตามมาตรฐานบัญชี TFRS 9 ด้วย จึงทำให้ตัวเลขงบการเงินของเราสะท้อนภาพธุรกิจที่เป็นจริงอยู่ต่อเนื่อง

 

“ผมมั่นใจเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรามีการบริหารต้นทุนทางการเงินจากแผนการเข้าตลาดหุ้น  เพราะเรามีแผนจะลงทุน ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุนนี้ จะใช้ลงทุนสร้างศูนย์บริหารจัดการและบริการข้อมูลยานพาหนะ ใช้งบประมาณราว 70 ล้านบาท และที่เหลือจะเป็นเงินทุนหมุนเวียน แผนระดมทุนในตลาดหุ้นจะช่วยให้ธุรกิจเรามีศักยภาพเติบโตได้มากสอดรับกับตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นบริษัทขนาดกลางที่เติบโตอย่างมั่นคง ผลดำเนินงานที่เติบโตในแต่ละปี เรามีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรแน่นอนครับ ”

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com