CHG จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ย้ำเป้ารายได้ปีนี้ 8,000 ล้านบาท โต 20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 6,600 ล้านบาท(ไม่รวมรายได้จากโควิด) โดยเฉพาะไตรมาส 3 ที่เป็นช่วงไฮซีซั่น ประกอบกับการเปิดให้บริการศูนย์การแพทย์ และเปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ จุฬารัตน์แม่สอด จังหวัดตาก วางแผนเพิ่มเตียงเป็น 1,200 - 1,300 เตียง ใน 4 ปีข้างหน้า พร้อมรุก 3 ธุรกิจใหม่
คลับหุ้นได้มีโอกาสสัมภาษณ์ พญ.ชุติมา ปิ่นเจริญ กรรมการบริหาร บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG ผู้นำโรงพยาบาลในโซนภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดระยอง รวมทั้งหมด 14 แห่ง
โดย พญ.ชุติมา ระบุว่า CHG ยังคงตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปีนี้ 20% จากปีก่อน ที่มีรายได้ 6,600 ล้านบาท(ไม่รวมรายได้จากโควิด) เป็น 8,000 ล้านบาท แม้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะรายได้เพียง 3,660 ล้านบาท ยังไม่ถึงครึ่งของเป้าทั้งปี แต่ก็มั่นใจจะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน
เหตุผลที่ทำให้มั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้า เพราะในช่วงไตรมาส 3 ถือเป็นช่วงไฮซีซั่นของการใช้บริการโรงพยาบาล โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย ทำให้มีรายได้เข้ามาจำนวนมาก ประกอบกับ CHG มีการขยายการเปิดการให้บริการเพิ่มเติม ใน 2 ส่วน คือ
1.เปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่ คือ โรงพยาบาลจุฬารัตน์แม่สอด ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขนาด 100 เตียง เบื้องต้นในเฟสแรกเปิดดำเนินการแล้ว 59 เตียง เป็นโรงพยาบาลรักษาโรคทั่วไป ที่มีศักยภาพในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบครบวงจรแห่งแรกในพื้นที่แม่สอดเน้นลูกค้าในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงชาวเมียนมาร์ และชาวเมียนมาร์เชื้อสายจีน จะได้ไม่ต้องเดินทางเข้ารับการรักษาในกรุงเทพฯ
2.เปิดให้บริการศูนย์การแพทย์ Chularat Medical Center อยู่ใกล้กับ รพ.จุฬารัตน์ 3 ซึ่งจะดำเนินการใน 4 ด้าน
- ศูนย์รังสีวิทยา เรื่องฉายแสง รักษามะเร็ง Radiotherapy และ MRI & Intervention
- ศูนย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ Nuclear Medicine ซึ่งก็เป็นการรักษามะเร็ง แต่มีความซับซ้อนกว่า ซึ่งเป็นการรักษาทางเลือก มุ่งหวังคนไข้ต่างชาติ คนไข้เงินสด และกลุ่มคนไข้ประกันชีวิต
- ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke Center ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตสูงมาก
- ศูนย์บำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง HBOT Center (Hyperbaric Oxygen Therapy) คือ การักษาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือด ด้วยการเพิ่มออกซิเจนในเลือด ให้เข้มข้นขึ้น จุดมุ่งหมายหลัก เพื่อกลุ่มลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันออกกลาง
ปัจจุบัน CHG มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วย 911 เตียง และอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาต เพิ่มเตียงโรงพยาบาลรวมแพทย์ ฉะเชิงเทรา อีก 71 เตียง คาดว่าจะได้รับอนุญาตภายในปีนี้ ทำให้มีจำนวนเตียง 982 เตียง หรือสรุปตัวเลขกลมๆ ก็คือ 1,000 เตียง และคาดว่าภายจะเพิ่มเป็น 1,200 - 1,300 เตียง ใน 4 ปีข้างหน้า โดยมีแผนจะเปิดโรงพยาบาลเพิ่มที่แพรกษา สมุทรปราการ ขนาด 100 เตียง และเปิดเพิ่มที่จังหวัดระยอง ขนาด 100 เตียง รวมถึงที่ Chularat Medical Center อีก 59 เตียง
สำหรับสัดส่วนรายได้ของ CHG หลักๆ มาจาก รพ.จุฬารัตน์ 3-9-11 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักที่สร้างรายได้รวมกันราว 73.3%ของรายได้ทั้งหมด โดยรพ.จุฬารัตน์ 3 มีรายได้มากที่สุดเกือบ 38% ของรายได้ทั้งหมด
สัดส่วนลูกค้า เป็นผู้ป่วยทั่วไป 64% และ 36% เป็นผู้ป่วยตามโครงการสวัสดิการด้านสุขภาพภาครัฐ แบ่งเป็นผู้ป่วยตามโครงการประกันสังคม 33% และผู้ป่วยตามโครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) 2%
ทั้งนี้ หากพิจารณาผลงานของ CHG ที่ผ่านมา มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากไม่รวมรายได้จากโควิด
ปี 2020 มีรายได้ 5,433 ล้านบาท
ปี 2021 หากไม่รวมรายได้จากโควิด จะอยู่ที่ 5,600 ล้านบาท
และปี 2022 หากไม่รวมรายได้จากโควิด(ซึ่งเป็นปีที่ปิดประเทศ) มีรายได้ 6,600 ล้านบาท
นอกจากนี้ CGH ยังมีแผนจะเปิดดำเนินการในธุรกิจใหม่ (NEW BUSINESS)
1. ตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาใหม่ เพื่อพิจารณาการลงทุนในผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสการเติบโต (Startup)ด้าน Health Technology ประกอบด้วย
- ลงทุนใน บริษัท เมด คิวรี่ จำกัด (MEDcury) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโซลูชันด้านการออกแบบระบบ จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการดูแลผู้ป่วยและการจัดการข้อมูลด้านสุขภาพ ครอบคลุมครบทั้งระบบสารสนเทศภายในโรงพยาบาล โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาเสริมในการให้บริการลูกค้า (Hospital Information System-HIS)และโปรแกรมต่อขยายอื่นๆ ด้านสุขภาพ เพื่อลดการสิ้นเปลือง ช่วยให้บริการของลูค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ลงทุนในบริษัท เอรินแคร์ จํากัด (ARINCARE) สตาร์ทอัพด้านสาธารณสุข Helathcare สัญชาติไทย ซึ่งเป็นผู้นําด้านแพลตฟอร์มบริหารจัดการเภสัชกรรมครบวงจร ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มร้านขายยาออนไลน์ ซึ่งมีเครือข่ายร้านขายยาทั่วประเทศ มากกว่า 3,000 แห่ง ซึ่งเป็นการต่อยอดการให้บริการในเรื่อง เทเลเมดิซีน รวมถึงช่วยลดต้นทุนในเรื่องการซื้อยา และสามารถขายยาผ่านอรินแคร์ เพิ่มการดูแลแบบองค์รวมและเสริมความแข็งแกร่งด้าน Logistic และ Supply chain
2. ลงทุนในบริษัท กู๊ด เอสเตท จำกัด ซึ่งทำธุรกิจ เนิร์สซิ่งโฮม (ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยพักฟื้นหลังการผ่าตัด) ในชื่อ ศูนย์เซ็นจูรี่แคร์ แถวลาดกระบัง ซึ่งอยู่ใกล้จุฬารัตน์ 3 และ 9 มี 5 ตึก จำนวนเตียง 128 เตียง โดยถือหุ้นในสัดส่วน 100%
เหตุผลหลักที่ CHG ไปลงทุนในศูนย์เซ็นจูรี่แคร์ 100% เพราะอยู่ใกล้จุฬารัตน์ 3 และ 9 ซึ่งเป็นข้อดี ช่วยถ่ายคนไข้ที่อยู่ระหว่างพักฟื้นที่นี่ มาไว้ที่นี่ ซึ่งก็จะวิน-วิน ทั้งคนไข้ และทางโรงพยาบาล โดยในส่วนคนไข้ เมื่อย้ายมาอยู่ที่นี่ ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ในขณะที่ รพ.จุฬารัตน์ 3 และ 9 สามารถรับคนไข้ได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ที่นี่ยังรับดูแลผู้สูงอายุ ที่ลูกหลานต้องไปทำธุรกิจต่างประเทศ ก็สามารถมาฝากชั่วคราว จะเป็นรายวัน รายอาทิตย์ หรือรายเดือนก็ได้
3.มีแผนจะเปิด Wellness Center ตรงข้าม รพ.จุฬารัตน์ 9 ซึ่งเป็นโครงการในอนาคต คาดว่าจะเปิดได้ดำเนินการในช่วงต้นปี 2568
พญ.ชุติมา กล่าวว่า แม้แนวโน้มธุรกิจเฮลแคร์ จะมีการแข่งขันกันสูง แต่ CGH ก็ยังจะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเราอยู่ในจุดที่เราแข็งแกร่ง อยู่ในธุรกิจนี้มากว่า 30 ปี อีกอย่างคือ แต่ละสาขาของรพ.จุฬารัตน์ อยู่ไม่ไกลกันมาก คือ กระจายตัวในพื้นที่ตะวันออกของกทม. และภาคตะวันออก ทำให้มีขุมกำลังที่ใหญ่ และเราสามารถแข่งขันได้ การอยู่เป็นคลัสเตอร์ ทุกความเชี่ยวชาญที่เรามี ทำให้ไม่ต้องไปพึ่งพาอาศัยใคร และมีทีมแพทย์ ที่เชี่ยวชาญ ที่สำคัญธุรกิจนี้ เรื่องต้นทุน และราคาค่ารักษาเป็นสำคัญ ซึ่งก็เป็นจุดแข็งของเรา