Interview

`เจอ-จ่าย-จบ` บทเรียนราคาแพง จากความหวังดี พลิกชะตาธุรกิจประกัน
5 ก.ค. 2565

ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI ออกมาเปิดใจ สถานการณ์โควิด ที่กระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมประกันอย่างหนัก จากความหวังดีของภาคธุรกิจประกัน ที่ยื่นมือช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด แต่กลับต้องเจอ MORAL HAZARD ถูกคนจำนวนหนึ่งแสวงหาผลประโยชน์จากการมีประกันภัย จนทำให้บางบริษัทถึงขั้นปิดกิจการ เป็นบทเรียนที่ราคาแสนแพงของธุรกิจประกัน แต่ยืนยัน BKI ยังมีฐานะการเงินที่เข้มแข็ง และสัดส่วนเงินกองทุนเพียงพอ ในการดำเนินธุรกิจ
 

ดร.อภิสิทธิ์ ระบุว่า สถานการณ์โควิดกระทบต่อธุรกิจประกันอย่างหนัก ภาพรวมปี 2564-2565 คาดการณ์ว่าความเสียหายอาจไปถึงเกือบๆ 1 แสนล้านบาท และส่งผลทำให้บริษัทประกันบางแห่งต้องปิดตัวลง 


ซึ่งในปี 2565 มีความเสียหายหนัก จาก MORAL HAZARD หรือ ภาวะภัยทางศีลธรรม อันเนื่องมาจากการกระทำอันไม่สุจริตเพื่อหวังผลประโยชน์จากการเอาประกันภัย เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ทำประกันโควิด เจอ-จ่าย-จบ   
 

เพราะโควิดที่กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์โอมิครอน เข้ามาระบาดแทน ซึ่งมีอาการไม่รุนแรง โอกาสการเสียชีวิตต่ำกว่าสายพันธุ์เดลต้า เป็นสิ่งจูงใจทำให้ประชาชนที่ทำประกันโควิดจำนวนมาก ตั้งใจติด เพื่อเคลมประกัน


ไม่เท่านั้น ยังพบว่ามีการทำเอกสารเท็จ เพื่อเคลมประกัน ซึ่งมีการโปรโมทในสื่อโซเชี่ยล ในการรับทำเอกสาร RT-PCR  และจากการได้สอบถามบริษัทประกันขนาดใหญ่ ที่มียอดเคลมความเสียหายหลักหมื่นล้าน ระบุว่าพบว่ามีการทำเอกสารเท็จ เพื่อเคลมประกันถึงหลักพันล้าน


เหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้ปีนี้เป็นปีที่ความเสียหายจากการทำประกัน เจอ-จ่าย- จบ ของผู้รับประกันภัยสูงมาก และทำให้บางแห่งถึงขั้นต้องปิดกิจการลง


อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรุงเทพประกันภัย ก็มีการรับทำประกันภัยโควิด เจอ-จ่าย-จบ มียอดขายประมาณ 670 ล้านบาท หรือมีกรรมธรรม์ราว 1.2 ล้านฉบับ แต่ยืนยันว่า มีเงินกองทุนเพียงพอ ไม่กระทบฐานะ 


ในปี 2564 BKI มีความเสียหายจากประกันภัยโควิด หลังหักรายได้ในส่วนของการทำประกันในผลิตภัณฑ์อื่นๆ เป็นยอดสุทธิประมาณ 3,400 ล้านบาท 


ส่วนในปี 2565 ของ BKI ก็ถือว่าได้รับความเสียหายที่สูง แต่ไม่มาก เพราะหลักการรับประกันภัยของบริษัทจะค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ส่วนใหญ่จะคุ้มครองในวงเงิน 5 หมื่น และเบี้ยประกันภัยก็จะแพงกว่าบริษัทอื่น ด้วยวงเงินที่จำกัดความรับผิดน้อยกว่า ประกอบกับ ณ สิ้น มิ.ย.กรมธรรม์ ที่รับทำไว้ 99% หมดอายุแล้ว 


ในปี 2565 BKI มีความเสียหาย เป็นยอดสุทธิจากการรับทำประกันโควิด อยู่ที่ประมาณ 8,700 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับยอดความเสียหายทั้งระบบ ถือว่าไม่มากจนเกินไป และส่วนใหญ่บันทึกตัวเลขความเสียหายที่มียอดเคลมค่าสินไหมไว้ในไตรมาสที่ 1/65 รวมประมาณ 5,800 ล้านบาท 


แม้ว่า BKI จะได้รับผลกระทบ และมีผลขาดทุนในไตรมาสที่ 1/65 แต่ก็มีรายได้จากการลงทุนเข้ามาช่วยอุดหนุน ทำให้มีผลขาดทุนประมาณ 3,500 ล้านบาท แต่ในขณะที่บริษัทยังมีกำไรสะสม 6,000 กว่าล้าน ซึ่งก็เพียงพอที่จะตัดขาดทุน และเหลือเงินสดที่จะจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในไตรมาส 1/65 ที่ผ่านมาในอัตราหุ้นละ 3.50 บาท 


ขณะที่สถานะทางการเงินของ BKI ก็ยังแข็งแกร่ง ณ สิ้นไตรมาส 1 มีความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุน อยู่ที่ระดับ 172.3% สูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดให้บริษัทประกันต้องดำรงเงินกองทุนไว้ที่ 140% 


และยังมีเงินทุน ส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น 30,800 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีสินทรัพย์สภาพคล่อง ถึง 466% เมื่อเทียบกับสัดส่วน การสำรองค่าสินไหม+ค่าสินไหมค้างจ่าย ก็ยังมากกว่าค่าสินไหมประมาณการ 4.66 เท่า สะท้อนว่า BKI ไม่ได้มีปัญหาด้านฐานะการเงินแต่อย่างใด


สำหรับไตรมาส 2/65 ที่ยังเหลือความเสียหายที่มียอดเคลมประกันโควิดประมาณ 3,500 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากผลประกอบการจากรายได้จากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในไตรมาส 1/65 ทั้งอัคคีภัย ประกันภัยขนส่งทางทะเล ประกันภัยยานยนต์ และอื่นๆ หากเอายอดเคลมโควิดออก จะมีกำไรเพิ่มขึ้น 40% 


นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากพอร์ตการลงทุนอื่นๆ ค่อนข้างมาก จึงคาดว่าผลประกอบการไตรมาส 2 จะเป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้ ส่วนจะเป็นอย่างไรคงต้องรอแจ้งงบต่อตลาดหลักทรัพย์ แต่คงไม่ดีไปกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน


จึงคาดว่า ณ สิ้น มิ.ย. ความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุน ของ BKI จะกลับไปยืนเหนือระดับ 200% ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่น่ากังวลในเรื่องฐานะการเงินของ BKI แต่อย่างใด 


และคาดว่าผลประกอบการไตรมาส 3 และไตรมาส 4 จะดีขึ้นแบบก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน เพราะกรมธรรม์ประกันโควิดหมดอายุไปหมดแล้ว ในไตรมาสที่ 2 ขณะที่รายได้จากการรับประกันในผลิตภัณฑ์อื่นๆ เติบโตค่อนข้างสูง


ดร.อภิสิทธิ์ ระบุว่า การทำประกันเจอ จ่าย จบ ถือว่าเป็นบทเรียนราคาแพงมากๆ ของอุตสาหกรรมประกันภัย ซึ่งเจตนาของประกันเจอ จ่าย จบ เพราะภาคอุตสาหกรรมคำนึงถึงการดูแลประชาชนค่อนข้างไปทางรากหญ้า  


เพราะนับตั้งแต่เริ่มเกิดการติดเชื้อ มีการออกข่าวสัมภาษณ์พ่อค้า แม่ค้า คนขับแท็กซี่ เมื่อถามว่า ติดเชื้อแล้วทำไมยังต้องออกมาขายของ ต้องขับแท็กซี่ คำตอบคือ "แล้วผมจะทำอย่างไร บ้านต้องเช่า ลูกเมียต้องกิน ผมเป็นคนเดียวที่หารายได้เข้าบ้าน ถ้าไม่ทำผมจะเอาเงินที่ไหน" 


จากจุดนี้เอง ทำให้บริษัทประกันอยากหาทางช่วยผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวช่วงกักตัว นี่คือเจตนาที่ดีของอุตสาหกรรมประกันภัย โดยที่ คปภ.ก็เห็นชอบ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่อุตสาหกรรมประกันภัยจะเข้าไปช่วยประชาชน


แต่ทุกอย่างกลับพลิกผัน กลายเป็นว่า คนจำนวนหนึ่งแสวงหาผลประโยชน์ โดยคำแนะนำของผู้รู้หลากหลายจำพวก สร้างเนื้อสร้างตัว สร้างฐานะ ด้วยการติดเชื้อทั้งครอบครัว เพื่อเคลมประกัน จนมีเงินซื้อรถคันใหม่ มีเงินปลดหนี้ปลดสิน 


ตอนโควิดสายพันธุ์เดลต้าระบาด ทุกคนต่างป้องกันตัว เพราะสายพันธุ์นี้อาการรุนแรง ติดแล้วมีโอกาสเสียชีวิต จึงทำให้ทุกคนกลัว แต่พอกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์โอมิครอน หลายคนมองว่าเป็นโอกาส ยอมสัมผัสใกล้ชิดคนที่ติดเชื้อ เพื่อให้ตัวเองติดเชื้อ เพราะรู้ว่าอาการไม่รุนแรง เพื่อเคลมประกัน นี่คือเรื่องจริง ที่เกิดขึ้นในสังคม 


เพราะบริษัทประกันบางแห่ง คุ้มครอง 1 แสน บางบริษัทคุ้มครอง 2 แสน บางครอบครัวมีสมาชิก 5 คน ยอมติดทั้งครอบครัว บางครอบครัวได้ค่าเคลมประกัน 8 แสน บางครอบครัวได้ 1 ล้านบาท 


นี่คือบทเรียนที่สำคัญของอุตสาหกรรมประกันภัย แต่ถ้าจะถามว่าแล้วใครหล่ะ...! วางกับดัก ก็คือเราเองที่หวังดี ก็ต้องโทษตัวเราเองด้วยเหมือนกัน เพราะเราประเมินสถานการณ์ได้ไม่ครอบคลุม คิดว่า MORAL HAZARD มันมีปัจจัยพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คาดคิดว่า MORAL HAZARD ในสังคมไทย เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการมีประกันภัย จะเกิดขึ้นมากขนาดนี้  


ซึ่งถือเป็นบทเรียนว่า การจะทำอะไรกับประชาชนในระดับรากหญ้า เป็นสิ่งที่ประกันภัยต้องใส่ใจ และระมัดระวังอย่างยิ่งยวดต่อไปในอนาคต เพราะนี่คือธรรมชาติของคนไทยที่เกิดการเรียนรู้ในระดับกว้างของสังคมไปเรียบร้อยแล้ว  


เป็นการเปิดใจของ "ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน" ที่ไม่เกินเลยจากความเป็นจริงแม้แต่น้อย เพราะล่าสุดสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ออกมาเปิดเผยในทำนองเดียวกันว่า บริษัทสมาชิกของสมาคมฯ หลายบริษัท ว่าพบผู้ที่ทำประกันภัยโควิด-19 ใช้เอกสารปลอมในการยื่นขอรับเงินค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นจำนวนแล้วกว่า 500 ล้านบาท 
 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com