รมว.คลัง จับเข่า ผู้ว่าการ ธปท. หารือหนี้ครัวเรือนสูง-ลดดอกเบี้ย หวังช่วยผู้กู้ใหม่ ต้นทุนต่ำ ย้ำเสนอให้ลดดบ.ไม่ใช่ไม่มีเหตุผล ช่วยทั้งรายย่อย เอสเอ็มอี มีสภาพคล่อง เผยแม้ลดดบ. อาจไม่ช่วยเงินบาทอ่อนค่ามาก มองบาทแข็งไม่กระทบภาคส่งออกเชิงปริมาณ แต่กระทบมูลค่าบ้าง ส่วนปลายปีเป็นไฮซีชั่นการส่งออก และนักท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจโค้งท้ายปี
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วันนี้ (3 ต.ค.) ได้หารือกับดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องหลักๆแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง และการลดดอกเบี้ย ซึ่งยังอยากเห็นการลดดอกเบี้ย แต่เรื่องการลดดอกเบี้ย เป็นบทบาทหน้าที่ของ ธปท. โดยเร็วๆนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมวันที่ 16 ต.ค. นี้ ในการหารือครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป ได้เริ่มปรับลดดอกเบี้ยแล้ว ส่วนจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทำให้เงินทุนไหลเข้าไทย ส่งผลต่อเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง แม้วันนี้เงินบาทจะอ่อนค่าลงมาบ้างก็ตาม และไม่ได้กระตุ้นภาคการส่งออกในเชิงปริมาณได้มากนัก แต่ปกติในช่วงปลายปีจะมียอดส่งออกขยับตัวดีขึ้น และไตรมาส 4 ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก ยังเป็นปัจจัยช่วยหนุนเศรษฐกิจในปลายปี จึงหวังว่ากนง.จะนำปัจจัยเหล่านี้ไปพิจารณาการปรับลดดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยที่ปรับลดลงจะส่งผลดีต่อคนกู้ใหม่
อย่างไรก็ตาม นายพิชัย ยอมรับว่า การ ลดดอกเบี้ย คงไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้มากนัก แต่สิ่งที่สำคัญ คือ การดูแลสภาพคล่องเพื่อให้รายย่อย เอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุน ในส่วนของแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง หลังจากแบงก์รัฐช่วยเหลือไปแล้วบางส่วน แต่ยังเหลือกลุ่มลูกหนี้นอนแบงก์ และสถาบันการเงินอื่น ที่ต้องช่วยปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้มีต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง และให้โอกาสคนที่มีศักยภาพได้เงินกู้
พร้อมกล่าวย้ำว่า การเสนอให้ลดดอกเบี้ยไม่ใช่ลดดอกเบี้ยโดยไม่มีเหตุผล ส่วนแนวทางดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง มียอดเงินกู้ไม่สูงมากนัก แต่มีจำนวนผู่กู้สูง 7-8 แสนบัญชี สถานการณ์แตกต่างจากปัญหาหนี้ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40 ซึ่งเป็นหนี้เอกชนรายใหญ่ มีจำนวนบัญชีไม่มาก แต่มูลหนี้ต่อรายอยู่ระดับสูง ในแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ขอยืนยันว่าไม่ใช่ให้แฮร์คัด แต่เป็นการลดหย่อนผ่อนปรนหนี้ ให้รายย่อย สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้น คลังและแบงก์ชาติ จึงพร้อมร่วมมือแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด