ค่าเงินบาท“อ่อนค่าเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”เปิดเช้านี้ 33.99 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบวันนี้ คาดจะอยู่ที่ 33.90-34.15 บาท/ดอลลาร์ ติดตามรายงานเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนไทยรอลุ้นยอดการส่งออก-นำเข้าเดือนกรกฎาคม และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.98 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways ใกล้ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 33.96-34.05 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และจังหวะปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (XAUUSD) ซึ่งการย่อตัวลงของราคาทองคำในช่วงนี้ อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำเพิ่มเติม ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง
ผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคฯ ใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นธีม AI/Semiconductor ออกมาบ้าง ก่อนที่จะรับรู้รายงานผลประกอบการของ Nvidia -2.3% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน Exxon Mobil +2.1% หลังราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.85% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.32%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.02% โดยตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันจากการขายทำกำไรหุ้นธีม AI/Semiconductor อาทิ ASML -2.7% ไม่ต่างจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุน จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน นำโดย Total Energies +1.1% หลังราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้
ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 3.81% โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจเผชิญแรงกดดันได้บ้าง หากราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นบ้าง ก่อนที่จะทยอยเข้าซื้อ (เน้น Buy on Dip) นอกจากนี้ เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้น ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันที่ 6 กันยายน เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนถึงแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟดได้ อาทิ เฟดจะลดดอกเบี้ย -25bps หรือ จะเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในกรณีที่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่เริ่มกลับมาร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 100.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.7-100.9 จุด) อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์อาจยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนมากนัก จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะยังพอได้แรงหนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ทว่า ราคาทองคำก็เผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้างใกล้โซนแนวต้าน รวมถึงแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลงและแกว่งตัวแถวโซน 2,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูลตลาดบ้าน รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board
ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports and Imports) เดือนกรกฎาคม ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า ยอดการส่งออกของไทยอาจโตได้ราว +5%y/y ขณะที่ยอดการนำเข้าจะขยายตัวราว +1.5%y/y
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ว่าจะมีความเสี่ยงที่จะลุกลามและบานปลายเป็นสงครามในภูมิภาคได้หรือไม่ ซึ่งต้องรอจับตาท่าทีของทางการอิหร่าน รวมถึงบรรดาพันธมิตร Axis of Resistance
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีแนวโน้มทยอยผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยในช่วงนี้เป็นช่วงปลายเดือน ทำให้เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันบ้างจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้า นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเห็นแรงขายหุ้นไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติออกมาในช่วงนี้ได้บ้าง อย่างไรก็ดี แม้ว่า บรรยากาศในตลาดการเงินช่วงนี้ อาจถูกกดดันจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทว่าภาพดังกล่าวอาจไม่ได้กดดันเงินบาทให้อ่อนค่าไปได้มากนัก ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ (เงินบาทอาจถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมน้ำมันดิบและแรงขายสินทรัพย์ไทย) ทำให้เราประเมินว่า การเคลื่อนไหวอ่อนค่าของเงินบาทนั้น ก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยเงินบาทอาจมีโซนแนวต้านแรกแถว 34.05-34.10 บาทต่อดอลลาร์ และจะมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.20 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนแนวรับเงินบาทในช่วงนี้ ยังคงอยู่ในโซน 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์
เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.15 บาท/ดอลลาร์