Krungthai GLOBALMARKETS มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ 33.50-34.20 บาท/ดอลลาร์ จับตา รายงานยอดค้าปลีก และผลประกอบการบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ และการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ชี้ผลการเลือกตั้งในไทย เพิ่มโอกาสต่างชาติกลับเข้าซื้อสุทธิหุ้นไทยมากขึ้น
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBALMARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.87 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.99 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมานั้น เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าใกล้โซน 34 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ หลังตลาดยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็มองว่า เฟดอาจจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นาน หลังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาวล่าสุดต่างปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาด
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดและแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นานของเฟด
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตา รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) สหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทค้าปลีกใหญ่ นอกจากนี้ ควรติดตามการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ พร้อมรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของไทย
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) โดยตลาดคาดว่า ยอดค้าปลีกในเดือนเมษายนอาจพลิกกลับมาขยายตัว +0.7% จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับภาวะการจ้างงานที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกที่ขยายตัวขึ้นส่วนหนึ่งก็อาจมาจากการปรับตัวขึ้นของยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิง หลังราคาพลังงานปรับตัวขึ้นในเดือนเมษายนพอสมควร ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานและคาดการณ์ผลประกอบการล่าสุดของบรรดาบริษัทค้าปลีก อาทิ Home Depot และ Walmart ซึ่งอาจสะท้อนแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้คนในสหรัฐฯ ได้
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมิน ภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและต่อเนื่อง (Initial and Continual Jobless Claims) หลังจากในสัปดาห์ก่อน ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกปรับตัวขึ้น แย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาจส่งสัญญาณชะลอตัวลงที่ชัดเจนขึ้น และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ ประธานเฟด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของเฟดพอสมควร ขณะเดียวกัน ปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ ก็อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามความคืบหน้าของการเจรจาขยายเพดานหนี้ (Debt Ceiling)
▪ ฝั่งยุโรป – ตลาดมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Survey) ในเดือนพฤษภาคม อาจปรับตัวลดลงแรงสู่ระดับ -5.5 จุด สะท้อนว่า บรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์ต่างมีมุมมองที่เชิงลบหรือกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากผลกระทบของการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงภาวะค่าครองชีพสูง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB โดยเฉพาะประธาน ECB เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงิน ECB
▪ ฝั่งเอเชีย – ตลาดคาดว่า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายน อาจขยายตัว +20%y/y สอดคล้องกับการรายงานดัชนี PMI ภาคการบริการก่อนหน้าที่ยังคงอยู่ในระดับเกิน 50 จุด สะท้อนการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น นักวิเคราะห์ประเมินว่า อานิสงส์จากการเปิดประเทศจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นโต +0.7%y/y ในไตรมาสแรกของปีนี้ ดีขึ้นจากที่แทบจะไม่ขยายตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน นอกจากนี้ ตลาดยังมองว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่นในเดือนเมษายน อาจเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 3.4% หนุนโดยการบริโภคที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่ ซึ่งจะสะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อ Core-Core CPI (ไม่รวมผลของราคาพลังงานและอาหารสด) ที่จะเร่งขึ้นสู่ระดับ 4.2% เช่นกัน ซึ่งจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีโอกาสใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นได้ในปีนี้
▪ ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ราว +2.3%y/y ในไตรมาสแรกของปีนี้ ดีขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนหน้า หนุนโดยการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งได้ช่วยหนุนให้เกิดการจ้างงานในภาคการบริการและส่งผลดีต่อการบริโภคโดยรวม ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งทั่วไปล่าสุด ณ เวลา 21.30 น. ของวันที่ 14 พ.ค. ชี้ว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล อาจจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลร่วมได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติอาจมองเป็นภาพที่ดีและทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นมากขึ้นได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ทิศทางค่าเงินบาทอาจขึ้นกับฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยผลการเลือกตั้งล่าสุด อาจเพิ่มโอกาสนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อสุทธิหุ้นไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอไว้โดยโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในเชิงเทคนิคัล โซนแนวต้านสำคัญจะอยู่ที่โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ และเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน ส่วน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ จะเป็นโซนแนวรับสำคัญในระยะสั้นนี้
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังพอมีอยู่ แต่ Upside อาจจำกัด หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจออกมาแย่กว่าคาดและ/หรือ ตลาดกังวลปัญหาเพดานหนี้ (Debt Ceiling) อย่างไรก็ดี หากตลาดปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-Off) จากความผิดหวังรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.50-34.20 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์