Economies

เงินบาท“อ่อนค่าลง”เปิดเช้านี้ 35.08 บาท/ดอลลาร์  รอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ - อังกฤษ-จีน
15 ส.ค. 2567

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.08 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.00-35.30 บาท/ดอลลาร์ รอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ - อังกฤษและจีน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.08 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.92 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน ก่อนที่จะทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในช่วง 34.84-35.10 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม ที่ชะลอลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.9% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เล็กน้อย (+0.2%m/m ตามคาด) ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า การชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวก็อาจทำให้เฟดลดดอกเบี้ยเพียง -25bps ตามปกติ ในการประชุมเดือนกันยายน จากที่ก่อนหน้า ตลาดคาดหวังว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยถึง -100bps (ทั้งนี้ในภาพรวม ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยราว -100bps ในปีนี้ อยู่) ซึ่งการปรับมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซนแนวรับระยะสั้น 2,440 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดและสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังไม่ได้น่ากังวลอย่างที่ตลาดเคยประเมินไว้ (ทั้งนี้ เราขอย้ำว่า ควรระวังความผันผวนจากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงที่ทางอิหร่านและพันธมิตร Axis of Resistance จะโจมตีอิสราเอล) อนึ่ง ความไม่แน่นอนของการเมืองไทยก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่า แต่ท่าทีของนักลงทุนต่างชาติในวันก่อนหน้านั้น สะท้อนว่า ความเสี่ยงการเมืองไทยก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติได้รับรู้ (priced-in) ไปพอสมควรแล้ว 

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ที่ชะลอลงต่อเนื่องนั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจว่าเฟดจะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ถูกกดดันบ้าง จากการปรับตัวลงของหุ้น Alphabet -2.3% หลังทางการสหรัฐฯ กำลังพิจารณาทางเลือกในการแยกธุรกิจของ Alphabet หลังศาลมีคำวินิจฉัยว่าทางบริษัทได้ละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.38% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.49% โดยตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ที่ยังคงออกมาสดใส นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปก็ยังได้อานิสงส์จากความหวังว่าเฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ ตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุดที่ชะลอลงต่อเนื่อง 
 
ในส่วนตลาดบอนด์ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ล่าสุด ที่ชะลอลงต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้ออกมาต่ำกว่าคาดไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนกันยายน โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว -25bps ในการประชุมเดือนกันยายน แต่โดยรวมตลาดยังคงมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว -100bps ในปีนี้ ซึ่งภาพดังกล่าวได้ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน และยังคงแกว่งตัวแถวโซน 3.85% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways (3.70%-4.00%) ในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม จนมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่ชัดเจน และเรายังคงคำแนะนำเดิม “เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip” หรือเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ส่วนจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นนั้น ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดพิจารณาขายทำกำไรได้บ้าง หากมีกลยุทธ์ Range-Bound Trading 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ทว่า เงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับที่สูงกว่าก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI หลังผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนกันยายน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 102.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.2-102.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคลายกังวลปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงจังหวะพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาด ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่โซนแนวรับ 2,480 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวลดลงดังกล่าวของราคาทองคำก็มีส่วนกดดันเงินบาทผ่านโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม  ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึง ดัชนีสะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย   

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ ผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า เศรษฐกิจอังกฤษอาจขยายตัวราว +0.9%y/y 
 
ทางฝั่งเอเชียนั้น ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม และยอดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ที่อาจเริ่มส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 6.50% ในปัจจุบัน 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นกลับมามีกำลังมากขึ้นอีกครั้ง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งทำให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ขณะเดียวกัน ก็กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง ที่ในช่วงนี้ ราคาทองคำก็ขาดปัจจัยหนุน หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็ดูจะยังไม่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างที่ตลาดเคยกังวล อย่างไรก็ดี ในเชิงเทคนิคัลนั้น เราจะมั่นใจได้มากขึ้นว่า เงินบาทอาจเข้าสู่ช่วงผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.15-35.20 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน ซึ่งเรามองว่า ในระยะสั้น ควรจับตาสถานการณ์การเมืองไทยที่อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ หากบรรดานักลงทุนต่างชาติกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทยมากขึ้นและเลือกที่จะลดการถือครองสินทรัพย์ไทย โดยหากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านดังกล่าวได้นั้น ก็อาจอ่อนค่าลงต่อ ทดสอบโซนแนวต้านสำคัญแถว 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้นั้นอาจจำกัดอยู่แถวโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ฝั่งสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน ในช่วงราว 9.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลให้เงินหยวนจีน (CNY) ผันผวนและกระทบต่อบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียได้บ้าง นอกจากนี้ ตั้งแต่ช่วง 19.30 น. เป็นต้นไป ก็ควรระวังความผันผวนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้ 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะ JPY Carry Trade/Short JPY ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.00-35.30 บาท/ดอลลาร์

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com