Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดอยู่ที่ระดับ 36.80-37.10 บาท/ดอลลาร์ หลังจากแข็งค่าเร็วกว่าคาด เปิดเช้าที่ 36.95 บาทต่อดอลลาร์ รอติดตามการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ รวมถึงไฮไลท์สำคัญรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯนี้
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.95 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.27 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดย ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว +0.56% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ยังคงออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ แต่ผลสำรวจส่วนใหญ่ที่คาดว่า พรรครีพลับริกันจะกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ นั้น ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลโอกาสที่พรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเดินหน้าคุมเข้มภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทเทคฯ รวมถึงการปรับขึ้นภาษีบริษัทเอกชน อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังไม่ปรับเปลี่ยนสถานะถือครองที่ชัดเจนจนกว่าจะรับรู้ผลการเลือกตั้งว่าพรรครีพลับริกันจะสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ได้ตามคาด
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป เดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.78% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ อาทิ ASML +5.2%, Adyen +2.7% ปัจจัยบวกที่สนับสนุนการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปยังคงเป็น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาด รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ ท่าทีของรัฐบาลยูเครนที่เริ่มส่งสัญญาณอยากให้มีการเจรจาสันติภาพก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้ผู้เล่นลดความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนได้บ้าง
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับไม่ได้ช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแต่อย่างใด กลับกันมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า หากพรรครีพลับริกันกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ก็อาจกดดันการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยิ่งสนับสนุนโอกาสที่เฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย โดยมุมมองดังกล่าวได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 4.13%
ในฝั่งตลาดค่าเงิน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน และมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย หากพรรครีพลับริกันครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ได้กดดันให้เงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงหลุดโซนแนวรับสำคัญที่ 110 จุด สู่ระดับ 109.6 จุด นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวขึ้นแรงสู่ระดับ 1,713 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งใกล้กับโซนแนวต้าน ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรทองคำและเราคาดว่าโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้
สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอาจมีไม่มากนัก โดยผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ เพื่อประเมินความต้องการใช้พลังงาน ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้ นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอติดตาม เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด หลังจากที่ประธานเฟดได้ส่งสัญญาณในการประชุม FOMC ล่าสุด ว่าเฟดอาจเริ่มพิจารณาชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่การขึ้นดอกเบี้ยก็ยังจะต้องดำเนินต่อไปจนกว่าเฟดจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้
อนึ่ง อีกปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ (the US Midterm Election) ซึ่งอาจใช้เวลาในการนับคะแนนพอสมควร ทำให้กว่าที่จะทราบผลเป็นแน่ชัดว่า พรรคไหนจะสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนและวุฒิสภาอาจจะใช้หลายวัน ทำให้ตลาดการเงินอาจผันผวนไปตามผลการเลือกตั้งเบื้องต้นได้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าอย่างรวดเร็วและมากกว่าที่เราคาดของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงและโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้าน อาจทำให้ภาพในเชิงเทคนิคัลของเงินบาทเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น ซึ่งหากตลาดยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อ เงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับใหม่แถว 36.80-36.90 บาทต่อดอลลาร์ได้ นอกจากนี้ การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทล่าสุด อาจทำให้ในเชิงจิตวิทยา ผู้ส่งออกบางส่วนอาจปรับลดระดับของเงินบาทเพื่อรอขายเงินดอลลาร์ โดยอาจมีการรอขายเงินดอลลาร์ในช่วง 37.50-37.70 บาทต่อดอลลาร์ จากช่วงก่อนหน้าที่ส่วนใหญ่จะรอแถว 38.00 บาทต่อดอลลาร์หรือสูงกว่านั้น ทำให้โซนแนวต้านของเงินบาทจะขยับลงมา
อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ควรระมัดระวังความผันผวนในตลาดการเงินจากรายงานผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ รวมถึงไฮไลท์สำคัญอย่างรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯนี้ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะการถือครองที่ชัดเจนก่อนจะรับรู้ผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ และรายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.80-37.10 บาท/ดอลลาร์