ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.72 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” Krungthai GLOBAL MARKETS ประเมินกรอบเงินบาท 36.50-37.00 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ไปจนถึงผลการประชุม FOMC ของเฟด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”
จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.75 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.68-36.78 บาทต่อดอลลาร์) สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวที่ไร้ทิศทางชัดเจนของเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด (ไฮไลท์สำคัญ คือ Dot Plot ใหม่)
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในภาพรวมอาจยังไม่ได้กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ นำโดย Apple +7.3% (ที่ได้แรงหนุนจากความหวังว่าการนำ AI มาใช้ในอุปกรณ์ของ Apple จะช่วยกระตุ้นยอดขายอุปกรณ์รุ่นใหม่ล่าสุดได้) ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.88% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.27%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.93% ท่ามกลางแรงขายหุ้นฝรั่งเศสที่ยังคงดำเนินต่อไป (ดัชนี CAC-40 ฝรั่งเศสปรับตัวลงกว่า -1.33%) จากความกังวลว่า พรรค RN (National Rally) ที่เป็นพรรคขวาจัดของฝรั่งเศส มีโอกาสที่จะได้รับเสียงข้างมากในสภาจากการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มกังวลต่อแนวโน้มการเกิด Frexit อีกครั้ง
ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 4.40% หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด ทั้งนี้ เรายังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในบอนด์ระยะยาว เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลักได้ทยอยเข้าสู่ช่วงขาลงแล้ว (แม้ว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ช้ากว่าที่เราประเมินไว้ ในการประชุม 31 กรกฎาคม - 1 สิงหาคมก็ตาม) ทำให้ ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ (หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเกินระดับ 4.50% ก็สามารถพิจารณาเป็นจุดเข้าซื้อที่น่าสนใจได้เช่นกัน)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นทั้งอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด นอกจากนี้ เรายังคงเห็นแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น) ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ก่อนที่จะรับรู้ปัจจัยสำคัญในสัปดาห์นี้ดังกล่าว ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 105.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.2-105.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ยังคงไร้ทิศทางที่ชัดเจน หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาศัยจังหวะการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำในการทยอยขายทำกำไร ทำให้โดยรวมราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,332 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม (ทยอยรับรู้ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของโมเมนตัมรายเดือน (%m/m) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟด (ทยอยรับรู้ในช่วง 1.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งเราคาดว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ทว่า มีโอกาสที่ คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย หรือ Dot Plot ใหม่ จะสะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ และ 3-4 ครั้งในปี 2025 รวมถึง ปี 2026 ส่วนอัตราดอกเบี้ยในระยะยาว (Longer run) ก็อาจขยับสูงขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 2.75% ได้
ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 14.00 น. โดยเรามองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.50% ด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5-2 ทว่าผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจต่อมุมมองของ กนง. ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ (จะมีการปรับเปลี่ยนคาดการณ์เศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่) และการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มนโยบายการเงิน
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ประเด็นการเมืองในประเทศไทย อย่าง การพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ผู้เล่นในตลาดต่างจับตามองเช่นกัน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways แถวระดับ 36.60-36.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้ปัจจัยสำคัญในวันนี้ อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้ ปัจจัยเสี่ยงการเมืองในประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของบรรดานักลงทุนต่างชาติต่อการลงทุนในสินทรัพย์ไทยได้ และในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม กนง. โดยหาก กนง. มีการส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ย หรือ “เซอร์ไพรส์” ตลาดด้วยการลดดอกเบี้ยลง (เรามองว่าโอกาสเกิดน้อยมาก) ก็อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก
และหลังจากตลาดทยอยรับรู้ปัจจัยในประเทศดังกล่าว เรามองว่า ค่าเงินบาทก็อาจเริ่มแกว่งตัว sideways อีกครั้ง ก่อนจะผันผวนสูงขึ้นในช่วงตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด โดยหากรายงานข้อมูลดังกล่าว และ Dot Plot ล่าสุดของเฟด ทำให้ตลาดมั่นใจได้ว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ เรามองว่า เงินบาทก็มีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นและอาจทดสอบโซนแนวรับ 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ตามการอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ ที่อาจมาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำเช่นกัน (ลุ้นว่า ราคาทองคำจะสามารถปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 2,380-2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้หรือไม่)
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.60-36.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลสำคัญฝั่งสหรัฐฯ และผลการประชุม FOMC ของเฟด
และประเมินกรอบเงินบาท 36.50-37.00 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ไปจนถึงผลการประชุม FOMC ของเฟด