ฉากทัศน์สงครามอิสราเอล-ฮามาส และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
KEY SUMMARY
ในกรณีฐาน SCB EIC ประเมินสงครามอิสราเอล-ฮามาสจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่มากนัก แต่ต้องระวังความเสี่ยงสงครามขยายวงกว้าง
สงครามครั้งนี้มีความเสี่ยงที่จะกระทบเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อโลกผ่านหลายช่องทาง ทั้งในด้านมูลค่า
ความเสียหายโดยตรงต่อเศรษฐกิจประเทศที่ทำสงคราม รวมถึงผลกระทบทางอ้อมผ่านราคาน้ำมันโลกและความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้น SCB EIC ประเมินว่าผลกระทบของสงครามต่อเศรษฐกิจโลกจะจำกัดอยู่ภายในปี 2024 โดยในกรณีฐานสงครามจะจำกัดพื้นที่อยู่ในอิสราเอลและปาเลสไตน์ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะยังไม่มีนัยสำคัญมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากอิสราเอลมีความสำคัญในระดับปานกลางต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปาเลสไตน์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกน้อย นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศไม่ได้เป็นผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลก สงครามครั้งนี้จึงไม่กระทบอุปทานและราคาน้ำมันโลก อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ลุกลามทำให้ประเทศผู้นำในภูมิภาค เช่น อิหร่าน เข้าร่วมสงครามโดยตรง อาจกดดันให้เศรษฐกิจโลกลดลง -0.4 percentage point (pp) และอัตราเงินเฟ้อโลกเพิ่มขึ้น +0.54 pp ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงขึ้นตามมาจากชนวนเหตุในภูมิภาคนี้
SCB EIC ประเมินผลของสงครามต่อเศรษฐกิจไทยยังไม่น่าห่วง
SCB EIC ประเมินในกรณีฐานที่สงครามจำกัดอยู่ในอิสราเอลและปาเลสไตน์ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะมีไม่มากเนื่องจาก (1) ราคาน้ำมันโลกและไทยจะไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก (2) อิสราเอลและไทยค้าขายระหว่างกันไม่สูงนัก ขณะที่การค้าไทยกับปาเลสไตน์ไม่ค่อยมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย (3) ไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวอิสราเอลเพียง 0.9% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่ไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวปาเลสไตน์ และ (4) ไทยไม่ได้เป็นฐานการลงทุนของอิสราเอลและปาเลสไตน์ อย่างไรก็ดี ความรุนแรงในอิสราเอลจะส่งผลกระทบต่อไทยผ่านตลาดแรงงานระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยอิสราเอลเป็นประเทศที่แรงงานไทยนิยมไปทำงานสูงกว่า 25,000 คน สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวัน หรือราว 20% ของแรงงานไทยทั้งหมดในต่างประเทศ
จับตาหากสงครามขยายวงกว้างรุนแรงขึ้นจะกระทบเศรษฐกิจไทยมากขึ้นหลายด้านผ่านราคาน้ำมันโลกสูง
หากสงครามรุนแรงกินเวลานานและกระจายวงกว้างขึ้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบมากขึ้นผ่านราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านหลายช่องทาง ได้แก่ เงินเฟ้อสูงกดดันการบริโภค ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้น การเติบโตของ GDP ลดลง ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่า หากอิหร่านเข้าร่วมในสงครามตัวแทน (Proxy war) เศรษฐกิจไทยปี 2024 จะขยายตัวลดลง -0.28 pp อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น +0.19 pp แต่หากอิหร่านเข้าร่วมสงครามโดยตรง (Direct war) เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวลดลง -0.85 pp อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น +0.57 pp เทียบกับกรณีไม่มีสงครามเกิดขึ้น
++
1. ความเป็นมาของความขัดแย้งและสถานการณ์ปัจจุบัน
ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ รวมถึงประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางเกิดขึ้นมานานตั้งแต่ปี 1948 ที่อิสราเอลเริ่มก่อตั้งประเทศในพื้นที่ของกลุ่มประเทศมุสลิม ความขัดแย้งประเด็นเขตพื้นที่และศาสนาเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ทั้งสองประเทศทำสงครามกันเรื่อยมา สำหรับสงครามครั้งนี้มีสาเหตุมาจากกลุ่มฮามาสที่เข้ามามีอำนาจในเขตฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ยิงขีปนาวุธกว่า 3,000 ลูกเข้าไปในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 พร้อมบุกรุกจับประชาชนและผู้อยู่อาศัยในอิสราเอลไว้เป็นตัวประกันจำนวนมาก อิสราเอลจึงตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศและภาคพื้นดินปิดล้อมเขตฉนวนกาซาสร้างความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย ถึงแม้ล่าสุดทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวได้ในช่วงที่ผ่านมาแต่สงครามได้กลับมาดำเนินต่ออีกครั้ง โดยทางการอิสราเอลประกาศท่าทีชัดเจนว่าต้องการจะวิสามัญผู้นำทั้งสามของกลุ่มฮามาสและกวาดล้างกลุ่มฮามาสขั้นเด็ดขาด พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าสงครามจะดำเนินต่อไปไม่น้อยกว่า 2 เดือน ทำให้สงครามอาจยืดเยื้อและยกระดับกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่รุนแรงสุดในรอบหลายทศวรรษ
สงครามครั้งนี้นับเป็นความเสี่ยงใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก และมีนัยทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากหลายประเทศมุสลิม
ในตะวันออกกลางมีความขัดแย้งกับอิสราเอลอยู่ก่อนแล้ว จึงอาจให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสหรือร่วมรบด้วย เช่น อิหร่านซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำทางศาสนาของภูมิภาคกล่าวยกย่องการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส พร้อมแสดงท่าทีสนับสนุนกลุ่มฮามาสและเรียกร้องให้ประเทศมุสลิมคว่ำบาตรด้านพลังงานและการทูตกับอิสราเอล นอกจากนี้ จากการเปิดเผยข้อมูลของอิสราเอลพบว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนและซีเรีย รวมถึงกลุ่มฮูตีในเยเมนได้เข้าร่วมโจมตีอิสราเอลด้วยแล้ว อีกทั้ง กลุ่มฮูตียังปะทะกับซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำของภูมิภาคเนื่องจากกลุ่มฮูติได้เคลื่อนกำลังเพื่อโจมตีอิสราเอลผ่านพรมแดนของซาอุดีอาระเบีย ขณะที่สหรัฐฯ แม้จะเรียกร้องความสงบแต่ได้แสดงท่าทีและให้การสนับสนุนอิสราเอลด้านงบประมาณและการทูตตั้งแต่ต้น ด้านรัสเซียออกแถลงการณ์กล่าวหาชาติตะวันตกว่าอยู่เบื้องหลังความขัดแย้งนี้ สงครามนี้ได้ซ้ำเติมความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่สิ้นสุด กระแสการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-สหรัฐฯ ประเด็นพิพาทระหว่างจีน-ไต้หวัน ตลอดจนความขัดแย้งในพื้นที่อื่น ๆ ในโลก
2. ฉากทัศน์สงครามและผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
สงครามนี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกผ่านหลายช่องทาง ได้แก่ (1) มูลค่าความเสียหายในประเทศที่ทำสงคราม (2) ระดับราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นจากความกังวลของตลาดการเงินโลก การลดลงของอุปทานน้ำมันโลก และต้นทุนการขนส่งน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในภาวะสงคราม และ (3) ความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้นจากกระแสการโยกย้ายเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศตามการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ท้ายที่สุดราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้นและความผันผวนในตลาดการเงินโลกจะเป็นความเสี่ยงให้เงินเฟ้อโลกสูงขึ้นและเศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง โดย SCB EIC ประเมินว่าผลกระทบของสงครามนี้ต่อเศรษฐกิจโลกจะจำกัดอยู่ภายในปี 2024 ตามฉากทัศน์ดังนี้
ฉากทัศน์ที่ 1 (กรณีฐาน) สงครามจำกัดอยู่ในอิสราเอลและปาเลสไตน์ แต่ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นนอกพื้นที่สองประเทศนี้บ้าง ขณะที่ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐฯ ยังต้องการให้เกิดความสงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง จึงไม่สนับสนุนให้เกิดสงครามในวงกว้างขึ้น ในกรณีนี้เศรษฐกิจอิสราเอลและปาเลสไตน์จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม แต่จะไม่มีนัยต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก เนื่องจากอิสราเอลมีความสำคัญในระดับปานกลางต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปาเลสไตน์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกน้อย (รูปที่ 2) นอกจากนี้ อิสราเอลยังไม่ได้เป็นผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลก โดยสามารถผลิตน้ำมันได้เพียง 5,977 บาร์เรล/วัน (0.06% ของปริมาณการผลิตน้ำมันโลก) จึงเน้นนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก ในกรณีฐานราคาน้ำมันโลกอาจเพิ่มขึ้นบ้างในระยะสั้นตามความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนจะปรับลดลงสู่ระดับปกติ ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่าฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นสูงสุด (75%) แต่จะส่งผลกระทบไม่มากต่อเศรษฐกิจโลก
ฉากทัศน์ที่ 2 อิหร่านเพิ่มความรุนแรงในสงครามตัวแทน (Proxy war) ในกรณีนี้ความรุนแรงกระจายไปบริเวณใกล้เคียงมากขึ้น โดยเฉพาะซีเรียและเลบานอนที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มฮามาสสู้รบอิสราเอลโดยตรง ขณะที่อิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสทางอ้อมพร้อมขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นช่องทางขนส่งน้ำมันหลักราว 20% ของโลก (รูปที่ 3 และ 4) ภาวะสงครามที่ขยายวงกว้างจะก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันโลกเฉลี่ยในปี 2024 จะเพิ่มเป็น 86.8 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล คิดเป็น +4.6% อีกทั้ง ยังก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกเทียบเท่ากับระดับ VIX (Volatility Index) ที่เพิ่มขึ้น 4 จุด ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่าฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก (20%) และจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลง -0.2 pp ขณะที่อัตราเงินเฟ้อโลกจะเพิ่มขึ้น +0.17 pp
ฉากทัศน์ที่ 3 อิหร่านเข้าร่วมสงครามโดยตรง (Direct war) ในกรณีนี้อิหร่านเข้าร่วมสงครามสู้รบอิสราเอลโดยตรง ความรุนแรงกระจายไปในภูมิภาค อาจมีการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตน้ำมันในภูมิภาคได้ โดยอิหร่านอาจปิดช่องแคบฮอร์มุซ และอาจเกิดความตึงเครียดระหว่างฝั่งสหรัฐฯ ที่สนับสนุนอิสราเอล และฝั่งจีนกับรัสเซียที่พยายามสร้างความสัมพันธ์กับอิหร่าน ส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันโลกเฉลี่ยในปี 2024 จะเพิ่มขึ้นเป็น 94.3 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล คิดเป็น +13.6% ทั้งยังก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกเทียบเท่ากับระดับ VIX ที่เพิ่มขึ้น 8 จุด ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่าฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย (5%) และจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลง -0.4 pp ขณะที่อัตราเงินเฟ้อโลกจะเพิ่มขึ้น +0.54 pp
3. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
SCB EIC ประเมินว่าในกรณีฐานที่สงครามจำกัดอยู่ในอิสราเอลและปาเลสไตน์ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะมีไม่มากเนื่องจาก (1) ราคาน้ำมันโลกและไทยจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก (2) อิสราเอลและไทยค้าขายระหว่างกันไม่มากนัก ขณะที่การค้าไทยกับปาเลสไตน์ไม่ค่อยมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย อีกทั้ง ไทยไม่ได้พึ่งพาสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้าเฉพาะกลุ่มจากทั้งสองประเทศเป็นพิเศษ (3) ไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวอิสราเอลเพียง 0.9% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่ไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวปาเลสไตน์ และ (4) ไทยไม่ได้เป็นฐานการลงทุนของอิสราเอลและปาเลสไตน์ (รูปที่ 5)
อย่างไรก็ดี ความรุนแรงในอิสราเอลจะส่งผลกระทบต่อไทยผ่านตลาดแรงงานระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
โดยอิสราเอลเป็นประเทศที่แรงงานไทยนิยมไปทำงานมากกว่า 25,000 คน สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวัน หรือคิดเป็นราว 20% ของแรงงานไทยนอกประเทศทั้งหมด
ทั้งนี้หากสงครามรุนแรงกินระยะเวลายาวนานและกระจายวงกว้างมากขึ้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบมากผ่านราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางหลัก ได้แก่ เงินเฟ้อสูงขึ้นกดดันการบริโภค ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้น รวมถึง GDP ลดลง การประเมินภาพรวมการส่งผ่านเป็นดังนี้ (รูปที่ 6)
3.1 ผลกระทบต่อเงินเฟ้อและการบริโภคเอกชน
หากราคาน้ำมันดิบโลกเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาน้ำมันในประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ (Net oil importer) โดยนำเข้าน้ำมันดิบราว 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7.8% ต่อ GDP (ข้อมูลปี 2022) อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นและผันผวนสูง กลับไม่ได้ส่งผ่านผลกระทบในตลาดโลกมายังราคาน้ำมันในประเทศได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากภาครัฐอุดหนุนราคาพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อเกิดเหตุการณ์ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้นมากเป็นเวลานาน ฐานะของกองทุนน้ำมันฯ จึงมีความเสี่ยงติดลบสูงหากภาครัฐยังพยายามรักษาระดับราคาน้ำมันในประเทศไว้ อาจเกิดเป็นความเสี่ยงที่ภาครัฐไม่สามารถแบกรับภาระทั้งหมดไว้ได้ นำไปสู่การลดการอุดหนุนทำให้ราคาน้ำมันในประเทศที่ถูกตรึงไว้ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นปัจจัย Shock ต่อเศรษฐกิจไทยจากด้านราคาพลังงาน และจะส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นรวดเร็วตามมา
ตัวอย่างในปี 2005 รัฐบาลได้ตัดสินใจปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล หลังจากกองทุนน้ำมันฯ ติดลบมากราว -8.3 หมื่นล้านบาท จึงมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในปี 2005 เพิ่มขึ้นเป็น 4.5% สำหรับในปี 2022 ที่กองทุนน้ำมันฯ ติดลบสูงกว่า -1.3 แสนล้านบาท จากปัญหาสงครามในยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาครัฐต้องบริหารจัดการแนวทางการตรึงราคาน้ำมันดีเซลใหม่ โดยต้องขยับเพดานราคาน้ำมันในประเทศขึ้น ภาวะสงครามนอกจากจะส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นแล้ว ยังมีส่วนทำให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยสูงขึ้นอีกด้วย จึงมีโอกาสกดดันให้เงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่า ซ้ำเติมภาระขาดดุลของกองทุนน้ำมันฯ จากปัจจัยค่าเงินบาทอ่อน และอาจกดดันต้นทุนพลังงานในประเทศ ส่งผลต่อสภาพคล่องและความสามารถของกองทุนน้ำมันฯ ในการอุดหนุนราคา สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ที่ยังคงเปราะบางอยู่เช่นนี้จะมีนัยต่อ 1) ทิศทางการกำหนดค่าการตลาดน้ำมัน (Marketing margins) ที่สถานีบริการได้รับโดยเฉลี่ย และ 2) ทิศทางการสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพผ่านการสร้างส่วนต่างราคาขาย
SCB EIC ประเมินความอ่อนไหว (Sensitivity analysis) ของราคาน้ำมันโลกต่อเงินเฟ้อไทย พบว่าหากราคาน้ำมันดิบโลกเพิ่มขึ้น +10% จะส่งผลกระทบต่อราคาเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเพิ่มขึ้นราว 0.42 pp โดยมีผลทางตรงทำให้ราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน (Energy CPI) ที่มีสัดส่วนราว 12.4% ในตะกร้าเงินเฟ้อผู้บริโภคปรับสูงขึ้น +0.33 pp และจะส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านราคาสินค้าอื่นในตะกร้าเงินเฟ้อพื้นฐานบางชนิดที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันมาก เช่น ราคาอาหารสำเร็จรูปและค่าเดินทาง จะปรับเพิ่มขึ้น +0.09 pp อีกด้วย (รูปที่ 7) นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลง กำลังซื้อครัวเรือนลดลง ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงตามมา อย่างไรก็ดี SCB EIC ประเมินว่าการบริโภคของครัวเรือนเกษตรกรส่วนหนึ่งอาจปรับเพิ่มขึ้น เป็นผลจากกำลังซื้อที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่ดีขึ้นตามราคาน้ำมัน อาทิ ราคายางพารา (พืชทดแทนยางสังเคราะห์) อ้อย และปาล์มน้ำมัน (พืชพลังงาน) ซึ่งครัวเรือนเกษตรของไทยปลูกพืชทั้งสามชนิดนี้เป็นสัดส่วนราว 31% ของครัวเรือนเกษตรทั้งหมด
3.2 ผลกระทบต่อการส่งออกและนำเข้า
ราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าโลก แต่ละประเทศจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันออกไปขึ้นกับสัดส่วนการนำเข้าและการส่งออกน้ำมัน รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องน้ำมันของประเทศนั้น ๆ โดยประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิ (Net oil importer) ได้รับประโยชน์โดยตรงจากรายได้ที่มากขึ้นผ่านมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ (Net oil importer) ต้องเผชิญกับภาระมูลค่าการนำเข้าที่สูงขึ้น ในภาพรวมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมีขนาดเศรษฐกิจ (คิดเป็น 15% ของขนาดเศรษฐกิจโลก) น้อยกว่าขนาดเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน (คิดเป็น 84% ของขนาดเศรษฐกิจโลก) อยู่มาก SCB EIC จึงประเมินว่า หากเกิดกรณีสงครามขยายวงกว้างขึ้นมา ผลสุทธิของราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจะทำให้มูลค่าการค้าโลกและขนาดเศรษฐกิจโลกขยายตัวชะลอลง
สำหรับประเทศไทยมีความเสี่ยงที่ดุลการค้าจะลดลงจากราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้น SCB EIC พบว่าเมื่อราคาน้ำมันโลกสูงขึ้น มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศผู้นำเข้าน้ำมันจะมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ดี แม้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้นและมีแนวโน้มนำเข้าสินค้ามากขึ้นจากไทย แต่ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้เพียง 16% ของมูลค่า
การส่งออกทั้งหมด ในทางตรงข้ามประเทศไทยส่งออกไปประเทศกลุ่มผู้นำเข้าน้ำมันที่ได้รับผลด้านลบจากราคาน้ำมัน
ในสัดส่วนสูงถึง 84% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่เติบโตชะลอลงจากภาวะสงครามจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มลดลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่ดุลการค้าจะลดลง
นอกจากนี้ หากสงครามเกิดขึ้นรุนแรงยาวนานและกระจายวงกว้างในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาจกระทบศักยภาพการส่งออกของไทยในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมาไทยได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับซาอุดีอาระเบีย และรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ด้านการค้ากับภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้น เช่น การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ประกอบด้วยซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน และโอมาน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคได้แสดงความสนใจที่จะจัดทำ FTA หรือ CEPA กับไทยเพิ่มเติม นอกจากนี้ ภาครัฐยังตั้งเป้าให้ตลาดตะวันออกกลางเป็นฐานในการเข้าถึงตลาดส่งออกในภูมิภาคแอฟริกาต่อไปอีกด้วย
3.3 ผลกระทบต่อภาคธุรกิจ
ธุรกิจที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ถูกกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ขณะที่บางกลุ่มได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นที่เพิ่มขึ้น
ผลทางอ้อมจากเศรษฐกิจตะวันออกกลางและเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าก๊าซสำหรับลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Non-firm SPP) อาจได้รับผลกระทบรุนแรงหากค่า Ft ปรับขึ้นไม่ทันต้นทุนก๊าซ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงทางอ้อมจากเศรษฐกิจตะวันออกกลางที่อาจชะลอตัว อย่างไรก็ดี กลุ่มอุตสาหกรรมถ่านหิน การสำรวจและผลิตน้ำมัน ยางพารา น้ำตาล
และปาล์มน้ำมันจะได้รับประโยชน์จากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น (รูปที่ 8)
โดยสรุปภาพรวมผลกระทบของสงครามต่อเศรษฐกิจไทย SCB EIC ประเมินว่า ในกรณีฐานที่สงครามจำกัดอยู่ในอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยในปี 2024 จะมีไม่มาก สอดคล้องกับเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลก รวมถึงราคาน้ำมันโลกที่ไม่เปลี่ยนไปมากนัก แต่หากสงครามเริ่มขยายวงกว้างเป็นฉากทัศน์ที่ 2 กรณีอิหร่านเพิ่มความรุนแรงในสงครามตัวแทน (Proxy war) เศรษฐกิจไทยปี 2024 จะขยายตัวลดลง -0.28 pp อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้น +0.19 pp ในกรณีเลวร้าย สงครามลุกลามในภูมิภาคกลายเป็นฉากทัศน์ที่ 3 อิหร่านเข้าร่วมสงครามโดยตรง (Direct war)
แม้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวลดลงไม่มาก -0.85 pp แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นมากถึง +0.57 pp (รูปที่ 7) อย่างไรก็ดี ทั้งสองกรณีหลังยังมีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก แต่ต้องจับตาการลุกลามของสถานการณ์สงครามให้ดี และอาจเป็นชนวนเหตุให้ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์นอกภูมิภาคเร่งตัวขึ้นได้ (รูปที่ 9)
บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/israel-hamas-war-041223