Economies

เงินเฟ้อส.ค.พุ่ง 7.86% ตามราคาพลังงาน คาดถึงจุดสูงสุดแล้ว
5 ก.ย. 2565

กระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขเงินเฟ้อส.ค. พุ่ง 7.86%จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามราคาพลังงาน แต่อยู่ในระดับทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม คาดถึงจุดสูงสุดแล้ว และมีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะชะลอตัวลง

 

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย หรืออัตราเงินเฟ้อ เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 7.86 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นราคาพลังงานที่เติบโตถึงร้อยละ 30.50 จากช่วงเดียวกันปีก่อน 


อย่างไรก็ตาม ขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคม 2565  ที่ร้อยละ 7.61 ทำให้คาดว่าเงินเฟ้อของไทยน่าจะถึงจุดสูงสุดแล้ว เหตุผลเนื่องจากในช่วงระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา การขึ้นของเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน หรืออย่างน้อยอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัว นอกจากนี้ เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจการค้าอื่น ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง 

 

ส่วน ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 6.14 

 

หากประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นการทยอยปรับราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ขึ้นราคาสินค้าในทุกหมวดพร้อมกันในทันที เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค และสร้างความสมดุลระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยที่คาดว่าราคาสินค้าและบริการจากนี้ไปจะเริ่มทรงตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายลดภาระค่าครองชีพ ของกระทรวงพาณิชย์ที่ร่วมกับภาคเอกชน ในการบริหารจัดการราคาสินค้าและบริการภายใต้ “วิน-วิน โมเดล” 

 

อย่างไรก็ตาม อาจเกิดปัจจัยเสี่ยงที่นอกเหนือจากสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ราคาพลังงานดีดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ และค่าไฟฟ้า ส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งและการผลิตสินค้า รวมทั้งความรุนแรงของอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้น 


สำหรับ ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนสิงหาคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 10.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามต้นทุนการผลิต ทั้งราคาวัตถุดิบ พลังงาน และบรรจุภัณฑ์ ที่ทยอยปรับสูงขึ้น ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 0.9 (MoM) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 


ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.3 จากระดับ 45.5 ในเดือนก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 2 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.6 จากระดับ 51.9 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 และอยู่ระดับสูงสุดในรอบปี 2565 ปัจจัยหลักมาจากประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติ ภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลง 


อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน  และมาตรการของภาครัฐซึ่งมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ยังคงเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com