Economies

บาทแข็งต่อเปิดเช้านี้ที่ 34.59 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้น GDP ไตรมาส 2-ผลประชุม กนง.
19 ส.ค. 2567

เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง เปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.59 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS คาดสัปดาห์นี้ เคลื่อนไหวที่ระดับ 34.35-35.15 บาท/ดอลลาร์ จับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น พร้อนรอลุ้น GDP ไตรมาส 2 และผลประชุม กนง.

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.59 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  34.99 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลุดทั้งโซนแนวรับ 34.85 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ (แกว่งตัวในกรอบ 34.55-35.02 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้ว่าเงินบาทจะมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง หลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนสิงหาคม ออกมาดีกว่าคาด หนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง ทว่าภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใส จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ลดความน่าสนใจในการถือครองเงินดอลลาร์และกดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ทำให้เงินบาทได้แรงหนุนจากทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จนทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (ทะลุโซน 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์) นอกจากนี้ เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทดังกล่าว อาจได้แรงหนุนจากการปรับสถานะ Short THB ของผู้เล่นในตลาด ที่อาจโดน Stop Loss ไปได้ หลังเงินบาทได้แข็งค่าหลุดโซนแนวรับระยะสั้นลงมา
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้น ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ จังหวะอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยที่ทยอยลดลง

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ที่อาจกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ECB และ BOJ พร้อมรอลุ้นรายงาน GDP ไตรมาสที่ 2 และผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย S&P Global (Manufacturing and Services PMIs) เดือนสิงหาคม รวมถึงการปรับปรุงข้อมูลการจ้างงานเบื้องต้น (Preliminary Annual Payrolls Benchmark Revision) ซึ่งจะสะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้ชัดเจนขึ้น พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดและรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด 

▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงาน ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการเดือนสิงหาคม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนสิงหาคม และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อยูโรโซน (Inflation Expectations) ซึ่งสำรวจโดย ECB นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามประเด็นการเมืองฝรั่งเศส ทั้งการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่และการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี หลังมหกรรมกีฬาโอลิมปิกได้เสร็จสิ้นลง โดยเราประเมินว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส อาจเป็นปัจจัยที่กดดันภาพตลาดทุนฝรั่งเศส และส่งผลให้เงินยูโร (EUR) เสี่ยงผันผวนอ่อนค่าในช่วงนี้ 

▪ ฝั่งเอเชีย –  เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดจากการปรับสถานะ JPY Carry Trade หรือ Short JPY เพิ่มเติมของผู้เล่นในตลาด ซึ่งจะขึ้นกับมุมมองของตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายของเฟดและธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยในส่วนของ BOJ นั้น ผู้เล่นในตลาดอาจมองว่า BOJ ยังมีโอกาสทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ในปีนี้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจทั้ง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการเดือนสิงหาคม ยอดการส่งออกและนำเข้าเดือนกรกฎาคม รวมถึง อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกรกฎาคม ยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ดีอยู่ ในส่วนของผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางฝั่งเอเชียนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) และธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) จะมีการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามธนาคารกลางอื่นๆ ในโซนเอเชีย เช่น ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) หรือไม่  

▪ ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนและการเบิกจ่ายของภาครัฐ ว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าหรือไม่ ซึ่งภาพเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ก็อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ โดยในส่วนของการประชุม กนง. นั้น เราประเมินว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% และอาจยังไม่ได้มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มการทยอยปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย หากเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีและมีแนวโน้มเป็นไปตามคาดการณ์ของ กนง. ส่วนประเด็นการเมืองนั้น เรามองว่า ควรติดตามการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ เพื่อประเมินว่า ภาพดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเบิกจ่ายและการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงนโยบายสำคัญของรัฐบาล อย่าง Digital Wallet หรือไม่

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่ายังมีอยู่ แต่อาจชะลอลงบ้าง ทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าได้ หากการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่มีแนวโน้มล่าช้า กดดันฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง หรือราคาทองคำเริ่มกลับมาย่อตัวลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมจังหวะที่ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยผันผวนสูงขึ้น

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ทิศทางเงินดอลลาร์จะขึ้นกับ 1) มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด 2) บรรยากาศในตลาดการเงิน ซึ่งต้องจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และ 3) ทิศทางบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อาจแข็งค่าขึ้นได้ หากผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า BOJ จะสามารถขึ้นดอกเบี้ยต่อได้

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.35-35.15 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.70 บาท/ดอลลาร์

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com