ออมสินเดินหน้าโมเดล CSV สร้างสังคมสู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์เป็นธนาคารเพื่อสังคม ชูความสำเร็จ DUO Mission แย้มปีนี้กำไรพุ่ง 3.3 หมื่นลบ. ทำสถิติสูงสุดและสูงกว่าโควิด ส่วน NPL 3% กลางปีหน้าให้บริการสินเชื่อดิจิทัล
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินจัดสัมมนา GSB Forum 2023 หัวข้อ " ESG... SOCIAL. PILLAR DRIVEN สังคมยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน” ณโรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงาน GSB Forum 2023 ว่า ความยั่งยืน ถือเป็นโจทย์ความท้าทายของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกซึ่งเกี่ยวโยงทั้งมิติสิ่งแวดล้อม มิติทางสังคมปัญหาความเลื่อมล้ำ ความยากจนที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ มิติทางเศรษฐกิจ และด้านธรรมาภิบาล เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต ถือเป็นวาระสำคัญ ที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดผลในทุกมิติ ซึ่งภาครัฐ ได้สร้างกลไกสนับสนุน ทั้งด้านกฎระเบียบ นโยบายรวมไปถึงมาตรการทางการเงินและการคลัง เพื่อส่งเสริมการลงทุนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
"แม้บทสรุปของความยั่งยืนยัง ไม่อาจวัดผลได้ในปัจจุบัน แต่เมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกัน สร้าง Ecosystem ในการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจไทย ในอนาคตพวกเรา และลูกหลานของเรา ก็จะได้รับผลจากการเริ่มต้นตั้งแต่ในวันนี้” นายกฤษฎา กล่าวพร้อมกับชื่นชมและขอบคุณธนาคารออมสิน ที่ริเริ่มความยั่งยืนในมิติเชิงสังคมมาโดยตลอด สร้างความสมดุลในทุกภาคส่วน
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานGSB Forum 2023 เพราะธนาคารออมสิน มีความพยายามที่จะส่งเสริมโปรโมทการทำงานเพื่อสังคมเพราะถือว่า ESG เป็นเทรนด์ที่สำคัญของโลกซึ่งนำไปสู่ความยั่งยืนในปัจจุบันองค์กรต่างๆให้น้ำหนักความสำคัญกับเรื่องของ Net Zero (การปล่อยก๊าซในเรือนกระจกเป็นศูนย์)ภายในปี 2025 ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีมีเป้าหมาย ขณะที่ธนาคารต่างๆมีการออกสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) แต่ในเชิงสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำปัญหาความยากจนก็มีความสำคัญ จึฝอยากเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันแก้ปัญหาโครงสร้างเชิงสังคมของประเทศ มากขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ที่เป็นปัญหาใกล้ตัวมาก ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆทำผ่านโครงการเพื่อสังคมต่างๆไม่ว่าจะเป็น Corporate Social Responsibility ( CSR) ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีต้นทุนในการทำต้องใช้งบประมาณแล้วแต่ขนาดขององค์กร การทำ CSR ส่วนใหญ่จะทำโครงการสั้นๆจบจะ ไม่มีความต่อเนื่อง แต่ถ้าทำเป็น Creating Shared Value (CSV) จะเป็นการทำที่มีกระบวนการต่อเนื่องมากกว่า CSR หากทำเป็น CSV จะสามารถกระจายผลไปจนถึง Supply chain ด้วย จึงอยากให้เกิดการเปลี่ยนมุมมองจากที่เป็น CSR มาเป็น CSV ร่วมกันพัฒนาความยั่งยืนให้แก่สังคมและประเทศมากขึ้น ซึ่งทำควบคู่ไปกับ Net Zero ได้
สำหรับออมสินในช่วง 3 ปีกว่า ได้สร้างจุดยืนการเป็นธนาคารเพื่อสังคม โดยจะแยกเป็น 2 ส่วนธุรกิจแยกออกจากกัน คือ ด้านหนึ่งมุ่งดำเนินงานเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป จนออมสินมีขนาดใหญ่และมีกำไรพอสมควร และสามารถนำกำไรนี้มาแบ่งทำภาระกิจเชิงสังคมได้ ทำให้เป็นธนาคารเพื่อสังคมอีกด้านหนึ่งขึ้นมา ออมสิน จึงดำเนินธุรกิจอย่างมี 2 เป้าหมาย หรือ DUO Mission ขึ้นมา และผลประกอบการของออมสินปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปี 2566 นี่ คาดว่าออมสินจะมีกำไร 33,000 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-10 แล้ว ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 3% และจะพยายามควบคุมไม่ให้เกิน 3.2%
"ธุรกิจฝั่งสังคมอาจเริ่มจากการขาดทุน แต่เราเอากำไรจากธุรกิจใหญ่มาสนับสนุนธุรกิจเล็กที่เน้นช่วยภาระกิจสังคม เราพยายามตัด cost (ต้นทุนการดำเนินงาน) อย่างรุนแรง มาตลอดจนลดลงจากที่เคยสูง 42,000 ล้านบาท ตัด cost เหลือ 32,000 ล้านบาท ซึ่งออมสินก็ยังอยู่ได้ และเอากำไรมาช่วยเหลือคนรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนแม้การปล่อยสินเชื่อในแง่มูลค่ารวมอาจไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก เนื่องจากเป็นการปล่อยสินเขื่อรายเล็กๆ คนละ 10,000 -30,,000 บาท เป็นสินเชื่อพัฒนาสร้างอาขีพ พัฒนาชุมชนแต่ถ้าดูปริมาณจะมีจำนวนหลายล้านคนที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนแล้ว นอกจากนี้ ออมสินยังดึงหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ระบบมากขึ้น เรากดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรมในตลาดลงมา โดยเราทำ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่ในตลาดมีเพดานสูงกว่า20% ลดลงมาเหลือ 18% เป็นต้น ออมสินยังพยายามสนับสนุนให้ประชาชนแก้หนี้นอกระบบ ช่วยแก้หนี้ครัวเรือนตามนโยบายของรัฐบาล ขณะที่ในช่วงโควิด ออมสินได้เข้ามาปล่อยสินเชื่อมีจำนวนกว่า 3 ล้านราย ย้อนกลับไปก่อนโควิด มีลูกค้าฐานรากแค่ 1.57 ล้านคน และในปีนี้เรายังตรึงดอกเบี้ยกู้ไว้จนถึงสิ้นปีนี้ด้วยในขณะที่ธนาคารต่างๆปรับตัวขึ้นไปแล้วตอนนี้ออมสินปล่อยกู้ต่ำกว่าในตลาดถึง 0.75% ภาระกิจออมสินปักธงอยู่ 2 ตัวในการแก้ปัญหาความยากจนและบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม แม้ว่าอาจจะแก้ไม่หมด แต่ก็ช่วยบรรเทาปัญหาสังคมได้"
นายวิทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ออมสินสามารถทำกำไรได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลักๆ เป็นผลมาจากการลดต้นทุนการดำเนินงานและลดงบประมาณต่างๆ ซึ่งตั้งเป้าหมายปีละ 10,000 ล้านบาท และในปีนี้ ออมสินก็ตรึงดอกเบี้ยกู้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าโดยเเฉพาะ แม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ออมสินคงตรึงดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม จากก่อนหน้านี้ ดอกเบี้ยกู้ทั้ง MLR MRR และ MOR ของออมสินจะสูงกว่าธนาคารต่างๆ เพราะมีลูกค้าที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากกว่า แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยของออมสิน อยู่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างมาก
สำหรับปีหน้า 2567 จะยังคงตรึงดอกเบี้ยกู้ไว้เท่าเดิมหรือไม่ นายวิทัย กล่าวว่า ขอดูสถานการณ์ตลาดในเวลานั้นก่อน เพราะต้นทุนหลักของออมสิน คือ เงินฝาก ขณะที่การตรึงดอกเบี้ยกู้ไว้ ทำให้รายได้หายไป แต่ออมสินแ็มีการหารายได้จากส่วนอื่นมาแทนที่เป๋นการขยายธุรกิจ โดยคาดว่า จะเปิดธุรกิจนอนแบงก์ได้ในกลางปีหน้า ที่จะให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็น Digital Lending เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนฐานรากให้เข้าสู่แหล่งเงินทุนสินเขื่อได้มากขึ้น