Economies

IMF  คาดปี 67  GDP ไทยโต 4.5% แรงส่งแจกเงินดิจิทัล ชี้กนง.เดินนโยบายถูกทาง  ย้ำรัฐบาลต้องปฏิรูป ศก. 
23 ม.ค. 2567

IMF ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นแบบชะลอตัว เอฟเฟคจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเศรษฐกิจประเทศกลุ่มหลัก  คาด GDP ปี 66 โต 2.5% และปี 67 โตแรง 4.5% รวมผลมาตรการ Digital Wallet  ชี้กนง. ดำเนินนโยบายการเงินถูกทาง  ย้ำยังต้องติดตามความเสี่ยงระบบการเงินอย่างใกล้ชิด  พร้อมเห็นด้วยแผนแก้หนี้ยั่งยืนผ่านหลักเกณฑ์ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ย้ำรัฐบาลต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจรับโลกดิจิทัลและโตอย่างมีศักยภาพ

 

วอชิงตัน ดีซี - ในการติดตามและประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย (Article IV Consultation) ประจำปี 2566ของคณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) ที่ออกเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 ระบุว่า  โดยรวม IMF มีมุมมองที่สอดคล้องกับทางการไทยต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัว แม้จะชะลอลงบ้าง จากการดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 2.5 และคาดว่าในปี 2567 จะเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 4.4 (กรณีรวมผลมาตรการ Digital Wallet) จากการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป IMF คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 และ 1.7 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธนาคารแห่งประเทเศไทย (ธปท.)

 

นอกจากนี้ IMF ยังเห็นว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสม และควรติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินอย่างใกล้ชิด ซึ่งสอดคล้องกับกรอบการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และระบบการเงินไทยที่มีเสถียรภาพ

 

สำหรับภาคการเงินนั้น  IMF สนับสนุนแผนของ ธปท. ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ผ่านการออกเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt)


นอกจากนี้ IMF แนะนำให้ทางการไทยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการลดทอนผลกระทบจากการแบ่งขั้วทางภูมิเศรษฐศาสตร์ (geo-economic fragmentation) รวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) โดยเฉพาะการเพิ่มพูนทักษะแรงงาน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ ตลอดจนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและปรับกฎเกณฑ์ทางธุรกิจให้เหมาะสม เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามศักยภาพ

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com