ธปท. ยันแม้เงินเฟ้อเร่งตัวสูง แต่ไม่กดดันการดำเนินนโยบายการเงินไทย
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Analyst Meeting ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อ ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุด เมื่อปลายเดือนมี.ค. 65 ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย และอัตราเงินเฟ้อสำหรับปี 65 และ 66 โดยปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 65 และ 66 ลงเหลือ 3.4% และ 4.7% ตามลำดับ และปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อ ในปี 65 และ 66 เพิ่มเป็น 4.9% และ 1.7% ตามลำดับ ซึ่งการปรับ GDP ลดลงจากเดิมนั้น เป็นผลมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เป็นสำคัญ
โดยมองว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยที่ชะลอตัวลง รวมทั้งมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผ่านมายังต้นทุนสินค้า ค่าครองชีพ และกำลังซื้อในประเทศ โดยกระทบกับค่าครองชีพภาคครัวเรือน ต้นทุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และมีหนี้สูง
อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผ่านมาทางช่องทางการค้า และตลาดการเงินยังมีจำกัด เนื่องจากไทยส่งออกไปรัสเซีย ในสัดส่วนน้อยเพียง 0.4% นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียนยังมีสัดส่วนน้อยเพียง 4% ของจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมในช่วงก่อนการระบาดของโควิด ประกอบกับเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังมีความเข้มแข็ง
ในขณะที่การระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ไม่ได้กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศมากเท่ากับระลอกการระบาดของสายพันธุ์เดลตา จึงทำให้เชื่อว่า ภาครัฐจะไม่ออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมาก และมีการผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ไตรมาส 1/65
ดังนั้น จึงประมาณการ ว่า ในปี 65 นี้ มูลค่าการส่งออกของไทยยังสามารถขยายตัวได้ 7% ส่วนปี 66 ขยายตัวได้ 1.5% ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 65 จะอยู่ที่ราว 5.6 ล้านคน ส่วนปี 66 อยู่ที่ราว 19 ล้านคน
อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นในระยะสั้น โดยปัจจัยที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐาน มาจาก 1. ปัญหา global supply disruption อาจรุนแรงกว่าที่คาด 2. ผลกระทบจากค่าครองชีพที่อาจสูงขึ้นมาก จนกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน 3. การระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ แต่ยังพอจะมีปัจจัยที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงกว่ากรณีฐาน คือ การใช้จ่ายของภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้นหลังจากที่ชะลอการใช้จ่ายไปในช่วงก่อนหน้า (pent-up demand)
โดยคาดการณ์ ว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับไปขยายตัวได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิดได้ในราวครึ่งหลังของปี 66 เป็นต้นไป
นายสักกะภพ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 65 จะยังอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมาย และอาจสูงเกินกว่าระดับ 5% ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้ เนื่องจากผลของราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นมาก และการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ ผลดังกล่าวจะทยอยลดลง และทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ได้ในปี 66
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้ออาจสูงกว่ากรณีฐาน มาจากปัญหา global supply disruption อาจรุนแรงกว่าที่คาด และผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า อาจส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคมากกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้ออาจต่ำกว่ากรณีฐาน มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจช้ากว่าที่ประเมินไว้
ด้านนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในบริบทของเศรษฐกิจไทย เป็นผลจาก cost-push shocks โดยเฉพาะราคาพลังงานและอาหารสดเป็นหลัก ขณะที่ demand shocks ส่งผลไม่มากนัก โดยยังไม่เห็นราคาที่สูงขึ้นส่งผ่านไปยังสินค้านอกหมวดพลังงานและหมวดอาหาร beyond regular cost pass-through
ทั้งนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะ 1 ปีข้างหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลาง ยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ระดับ 1-3% และไม่อ่อนไหวตามความผันผวนของราคาระยะสั้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 66 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตามอุปทานน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และปัญหาการขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะบรรเทาลง ขณะที่แรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีน้อย แต่จะทยอยเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
โดยในส่วนของการดำเนินนโยบายการเงินนั้น จะให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่า โดยสามารถมองข้ามผ่านอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นในช่วงนี้ได้ แต่ก็จำเป็นต้องสื่อสารที่มาของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นให้สาธารณชนได้เข้าใจ
"อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเกิดจากปัจจัยด้านอุปทาน โดยในบริบทปัจจุบัน นโยบายการเงินสามารถ look through ความผันผวนระยะสั้นได้ แต่ยังคงต้องติดตามคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ และเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะต่อไป" นายสุรัช ระบุ
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ พัฒนาการของเงินเฟ้อ เช่น การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ แรงกดดันค่าจ้าง อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ และเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่คาดว่าจะได้เห็นชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 65
ด้านนายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ความเห็นถึงกรณีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐว่า จากพื้นฐานเศรษฐกิจด้านต่างประเทศของไทยที่ยังมีความเข้มแข็ง จึงทำให้ปัจจุบันจะมีส่วนต่างที่ค่อนข้างมากระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ แต่ยังถือว่ามีผลค่อนข้างจำกัดต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายยังไม่พบกว่าเป็นการไหลออกไปมาก หรือมีการไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว และจะเห็นได้จากค่าเงินบาทตั้งแต่ช่วงต้นปี ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ดังนั้นจึงถือว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จึงไม่เป็นประเด็นที่กังวลมากนัก