เงินบาท“แข็งค่าเล็กน้อย”เปิดเช้านี้ 35.74 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.70-35.95 บาท/ดอลลาร์ รอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนี PMI เดือนกุมภาพันธ์ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ส่วนฝั่งไทย อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนกุมภาพันธ์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.74 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.82 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.73-35.87 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ ที่ทำจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำนั้นได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนที่ช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น เพื่อรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส และรอลุ้นผลการเลือกตั้งขั้นต้น (Primaries) ในหลายรัฐ (Super Tuesday) เพื่อหาตัวแทนพรรครีพับลิกันในการท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งใหญ่ปีนี้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่จะทยอยประกาศในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะ ยอดการจ้างงาน ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.12%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.03% ตามแรงขายทำกำไร หลังดัชนี STOXX600 ได้ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนหน้า ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ที่ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง นำโดย ASML +2.2%
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 4.20% หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ การแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่รีบปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน อนึ่ง เราประเมินว่า หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ สะท้อนภาพการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น ยอดการจ้างงานออกมาแย่กว่าคาด อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อมั่นว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ตาม Dot Plot ล่าสุด ทำให้ การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เช่น ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.50% อาจเกิดขึ้นได้ยาก และถ้าจะเกิดขึ้นได้นั้นอาจต้องอาศัยมุมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้ง หรือ ไม่ลดดอกเบี้ยลงเลย ดังนั้น Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยเงินดอลลาร์เผชิญกดดันอยู่บ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซน อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) นั้นออกมาดีกว่าคาด ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดก็อาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์มากนัก จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานเฟด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.7-104 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ กอปรกับแรงซื้อตามโมเมนตัมของผู้เล่นในตลาด ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 2,120 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำจุดสูงสุดใหม่ของปีนี้ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (Services PMI) เดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไปของเฟด และรอลุ้นผลการเลือกตั้งขั้นต้น (Primaries) ในหลายรัฐ หรือ ที่เรียกว่า Super Tuesday เพื่อหาตัวแทนพรรครีพับลิกันในการท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีนี้
ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป Headline CPI ในเดือนกุมภาพันธ์ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ -0.70% (ตลาดคาด -0.80%) หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานเป็นหลัก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ที่ไม่รวมผลของราคาพลังงานและอาหารสด อาจอยู่ที่ระดับ 0.50% ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัวลักษณะ sideways down อย่างไรก็ดี การปรับตัวแข็งค่าสู่โซนแนวรับ 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ รวมถึงสกุลเงินต่างประเทศอย่างเงินเยนญี่ปุ่น JPY (ที่ช่วงนี้ได้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาทพอสมควร) ส่งผลให้ การปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดได้
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ดัชนี ISM ภาคการบริการ เพราะหากออกมาดีกว่าคาดชัดเจน ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มลังเลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด หรือ ไม่ หรือ ผู้เล่นในตลาดอาจมองว่า เฟดจะเลื่อนการลดดอกเบี้ยไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น และกดดันให้ ราคาทองคำที่เพิ่งทำจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้ ปรับตัวลงแรงได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว เงินบาทก็จะยิ่งเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และการปรับฐานของราคาทองคำ จนมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้
เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.70-35.95 บาท/ดอลลาร์