ธ.ก.ส. เผยผลงาน 3 ไตรมาสแรกปีบัญชี 66 จ่ายสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคชนบทระหว่างปีไปแล้วกว่า 6.1 แสนล้านบาท ควบคู่การสนับสนุนนโยบายรัฐในการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร การลดภาระหนี้เกษตรกรผ่านโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน พร้อมเดินหน้าภารกิจองค์กรสู่การเป็นแกนกลางการเกษตร ที่ให้บริการทางการเงินและการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในการต่อยอดธุรกิจภาคการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่ม การทำการตลาด การพัฒนาและยกระดับชุมชนในการสร้างรายได้และการดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้หลัก BCG ช
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยผลการดำเนินงาน 3 ไตรมาสแรกของปีบัญชี 2566 (1 เมษายน – 31 ธันวาคม2566) ว่า ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจในภาคชนบทระหว่างปีไปแล้วจำนวน 614,131 ล้านบาท โดยมียอดสินเชื่อคงค้าง จำนวน 1.66 ล้านล้านบาท เติบโตจากต้นปีบัญชี จำนวน 27,641 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 78.97% ของเป้าหมาย ยอดเงินฝากสะสม 1.82 ล้านล้านบาท มีสินทรัพย์ จำนวน 2.24 ล้านล้านบาท หนี้สินรวม 2.09 ล้านล้านบาท และส่วนของเจ้าของ 1.55 แสนล้านบาท และมีกำไรสุทธิ จำนวน 6,197 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย ขณะที่ NPLs อยู่ที่ร้อยละ 5.43 ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าสิ้นปีบัญชีจะลดลงต่ำกว่าร้อยละ 5 ตามเป้าหมาย
ในปีบัญชี 2566 ธ.ก.ส. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนภารกิจสู่การเป็นแกนกลางการเกษตร (Essence of Agriculture) ที่มุ่งยกระดับเกษตรกรในทุกมิติผ่านโครงการ D&MBA (Design and Management By Area) โดยร่วมมือกับพันธมิตรและเครือข่ายในการให้ความรู้เพื่อเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเกษตรกร การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาสู่การทำการเกษตรสมัยใหม่ หรือเกษตรอัจฉริยะ ที่สามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การสนับสนุนเกษตรกรหัวขบวนในพื้นที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ การสร้างการเติบโตใหม่ในกลุ่ม Smart Farmer Agri-Tech และ Startup ในการต่อยอดธุรกิจเกษตร และสร้างความหลากหลายในตัวผลิตภัณฑ์ ที่ตรงกับความต้องการของตลาด การยกระดับสินค้าสู่มาตรฐาน ทั้งการผลิต การดีไซน์ เพื่อสร้าง Value Added ไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง รวมถึงการดึงคนรุ่นใหม่กลับมาต่อยอดและสานต่อธุรกิจของครอบครัว เช่น การสนับสนุนรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงเกษตร Agro-Tourism การเชื่อมโยงธุรกิจเกษตรและจับคู่ตลาด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้และนำไปสู่การจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้สินในชุมชน โดยสามารถพัฒนาลูกค้าและชุมชนไปแล้ว 8,889 ราย (จากเป้าหมาย 6,080 ราย) การพัฒนาชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้หลัก BCG ซึ่งมีชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 181 ชุมชน และการพัฒนาความรู้ด้านการเงินและดิจิทัล โดยส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายไปแล้วจำนวน 130,000 ราย
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้สินและการฟื้นฟูอาชีพ เพื่อช่วยให้พี่น้องเกษตรกรมีโอกาสในการลดภาระหนี้สิน มีรายได้ที่มั่นคง สามารถก้าวพ้นกับดักหนี้ได้อย่างยั่งยืน เช่น มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่สอดคล้องกับศักยภาพและรายได้ในกลุ่มหนี้ที่มีปัญหา โดยใช้ฐานข้อมูลและเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูล การจัดกลุ่มลูกค้า การพัฒนาเครื่องมือและช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น เช่น การชำระหนี้ผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile และ Banking Agent เป็นต้น มาตรการจ่ายดอก ตัดต้น เมื่อลูกค้าส่งชำระหนี้ ธนาคารจะแบ่งการตัดชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยในสัดส่วน 50 : 50 ซึ่งจะทำให้ลูกค้าลดภาระหนี้ได้เร็วยิ่งขี้น โดยสามารถลดหนี้ได้แล้วกว่า 43,189 ล้านบาท มาตรการจ่ายต้นปรับงวด โดยธนาคารจะปรับตารางชำระหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับรายได้และศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยมีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการแล้วกว่า 12,684 สัญญา
ขณะเดียวกันยังสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระหนี้ผ่านโครงการชำระดีมีโชค โดยจูงใจให้ลูกค้าชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลา ซึ่งดอกเบี้ยและเงินต้นที่ชำระจริงทุก ๆ 1,000 บาท จะมอบเป็นสิทธิประโยชน์ในการชิงโชค 2 ชั้น ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ จำนวน 48,119 รางวัล มูลค่ารวมถึง 479 ล้านบาท โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567 จับรางวัลรวม 4 ครั้ง การให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการทั้งหนี้ในและนอกระบบ โดยเฉพาะการบริหารจัดการหนี้ทั้งระบบ เพื่อลดปัญหาหนี้เสียและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกค้า ทำให้การเป็นหนี้ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปผ่านโครงการหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. โดยสามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เกษตรกรลูกค้าและบุคคลในครัวเรือนให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบของ ธ.ก.ส. ไปแล้วกว่า 712,518 รายเป็นเงินกว่า 60,355 ล้านบาท
ในส่วนของ ธ.ก.ส. ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร ให้สามารถปรับตัวได้ทันกับเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา อาทิ การปรับปรุงกระบวนการทำงานแบบ Agile-working การใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกค้า การเติมความรู้และทักษะให้กับพนักงาน และการใช้จุดแข็งขององค์กรคือ “คนของเรารักลูกค้า” ในการเข้าถึงและเข้าใจลูกค้า เพื่อสนับสนุนและต่อยอดการผลิตสินค้าเกษตรของลูกค้า ให้มีมาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ไปสู่เกษตรมูลค่าสูง
ด้านภารกิจตามนโยบายรัฐบาล ธ.ก.ส. ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/2567 โดยจ่ายเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงไปแล้ว 50,532 ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์ จำนวน 4.35 ล้านราย มาตรการในการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย ที่มีหนี้รวมต้นคงค้างทุกสัญญา ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท โดยปัจจุบันมีลูกค้าแจ้งความประสงค์สอบทานสิทธิ์เข้าร่วมแล้วกว่า 1,680,406 ราย การจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดลด PM 2.5 ไปแล้ว 7,412 ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์ 1.2 แสนราย นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือสนับสนุนผ่านระบบสินเชื่อ ธ.ก.ส. ได้แก่ 1) โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ่ายสินเชื่อไปแล้วกว่า 1,878 ล้านบาท 2) โครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมกุ้งทะเลอย่างยั่งยืน จ่ายสินเชื่อไปแล้วกว่า 103 ล้านบาท 3) สินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จ่ายสินเชื่อไปแล้ว 6,500 ล้านบาท 4) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/2567 จ่ายสินเชื่อไปแล้วกว่า 3,367 ล้านบาท 5) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 จ่ายสินเชื่อไปแล้ว 4,748 ล้านบาท และ 6) สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบของรัฐบาล รายละ ไม่เกิน 20,000 บาทอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน (Flat Rate) ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 6 งวดแรก (ชำระดอกเบี้ยปกติ) ระยะเวลาชำระคืนเงินงวดสูงสุดไม่เกิน 3 ปี เริ่มจ่ายสินเชื่อวันนี้ถึง 30 กันยายน 2567 หรือเต็มวงเงิน 7,500 ล้านบาท
นายฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีบัญชี 2566 (1 มกราคม – 31 มีนาคม 2567) ธ.ก.ส. ยังมุ่งดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ ในการพัฒนาชนบทที่ยั่งยืนทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น การส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินที่ทันสมัยอย่างครบวงจรด้วยต้นทุนที่ต่ำและรวดเร็ว โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานในการให้บริการลูกค้า เช่น การพัฒนา Mobile Application และ Self Service Machine เป็นต้น
ด้านการพัฒนาลูกค้า สนับสนุนเกษตรกรในการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลมาวางแผนบริหารจัดการการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคต่าง ๆ ในตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ ลดปัญหาการเกิดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาด และทำให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาสินค้าได้อย่างเหมาะสม และป้องกันราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การสร้างการทำธุรกิจแบบMutualism ระหว่างเจ้าของแหล่งปัจจัยการผลิตร่วมกับกลุ่มคนที่มีทักษะด้านการผลิตการออกแบบ การแปรรูป และนวัตกรรม โดยส่งเสริมกันในรูปแบบการแบ่งปันผลกำไร(Profit Sharing) และการสนับสนุนองค์ความรู้เสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเกษตรกร ผ่านการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเครือข่ายในรูปแบบ 1U1C (1 University 1 Community) เพื่อพัฒนามาตรฐานในการผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการใช้นวัตกรรม การแปรรูปและการดีไซน์ ควบคู่กับการส่งเสริมวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบด้วยการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรเกษียณอายุอย่างมีคุณภาพ ผ่านการสร้างกองทุนเงินเกษียณอายุ (Pension Fund) เป็นต้น
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้ยกระดับชุมชนที่ดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้ ต่อยอดไปสู่การจำหน่ายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้เต็มรูปแบบผ่านโครงการ BAAC Carbon Credit อย่างเป็นทางการ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยเริ่มต้นที่บ้านท่าลี่และบ้านแดงจังหวัดขอนแก่น เป็นที่แรก และจะขยายไปยังชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างรายให้กับชุมชนที่ร่วมปลูกและดูแลต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวและสนับสนุนเป้าหมายของประเทศในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่สร้างความยั่งยืนให้กับทุก ๆ คนต่อไป