ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.81 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” กรุงไทย คาดวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 33.65-34.00 บาท/ดอลลาร์ จับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.81 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลง ในลักษณะ Sideways Up (กรอบการเคลื่อนไหว 33.74-33.90 บาทต่อดอลลาร์) โดยในช่วงแรกเงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลัง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ออกมาดีกว่าคาด ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE เดือนกันยายน ก็อออกมาสูงกว่าคาดเล็กน้อย ทำให้ผู้เล่นในตลาดมีการปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป ต่างปรับตัวลดลงจากความผิดหวังต่อรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลงหนักราว -50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงใกล้โซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็ไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามแรงขายของผู้เล่นในตลาดบางส่วน อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ก่อนที่จะรับรู้ทั้งรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ และผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งผลโพลล่าสุดต่างสะท้อน คะแนนความนิยมของผู้ท้าชิงจากทั้งสองพรรคที่สูสีกันมาก
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถูกกดดันจากแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ ธีม AI/Semiconductor โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Microsoft -6.1%, Meta -4.1% ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นธีม AI ที่อาจเผชิญแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายการลงทุนด้าน AI ที่สูง ส่วนบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ Nvidia -4.7% ก็ยังคงเผชิญแรงขายท่ามกลางความกังวลปัญหาบัญชีของหุ้น Super Micro Computer -12% ทำให้โดยรวม ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงหนัก -2.76% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.86%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -1.20% กดดันโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาน่าผิดหวัง และแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ ธีม AI/Semiconductor ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานที่รายงานผลประกอบการที่สดใส อาทิ Shell +3.5% อีกทั้งราคาน้ำมันดิบก็เริ่มปรับตัวสูงขึ้นช่วยหนุนบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นทะลุโซน 4.30% ตามการปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของผู้เล่นในตลาด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่างออกมาดีกว่าคาด อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดก็ยังคงทยอยปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากโซน 4.30% ไปได้ไกล หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว นอกจากนี้ ในช่วงคืนที่ผ่านมา บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังคงปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ตามแรงเทขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ ก็มีส่วนกดดันบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เช่นกัน
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด การปรับสถานะถือครองให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades และความต้องการถือเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ก่อนที่เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ส่วนเงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็มีจังหวะรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และมุมมองของผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่ยังเชื่อว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ในเดือนธันวาคม ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 103.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.8-104.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงแรงขายทำกำไรทองคำ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงหนักสู่โซน 2,740 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้าง กลับสู่โซน 2,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลการจ้างงานเดือนตุลาคม ทั้ง ยอดการจ้างงานยอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) รวมถึงรายงาน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนตุลาคม ซึ่งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดได้
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย สำหรับข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และช่วง 21.00 น. สำหรับรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม
โดยเราประเมินว่า ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ดังกล่าว เงินบาทยังคงมีโซนแนวต้านแถว 33.85 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่แถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนดังกล่าวได้ไม่ยาก หากบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป ได้กดดันบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นเอเชียเช่นกัน จนทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ หลังมีรายงานข่าวว่าทางการอิหร่านกำลังเตรียมโจมตีตอบโต้อิสราเอล ก็อาจทำให้เงินบาทเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบได้เช่นกัน ทว่า เงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หลังราคาทองคำได้ทยอยรีบาวด์ขึ้นจากช่วงคืนก่อนหน้า อีกทั้งผู้เล่นในตลาดบางส่วน อย่างฝั่งผู้ส่งออกต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงเงินบาทอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ อนึ่ง หากเงินบาทสามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ซึ่งอาจต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ ให้ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจพอมีโซนแนวรับแรกจะอยู่ในช่วง 33.65 บาทต่อดอลลาร์ และมีแนวรับถัดไปแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวอาจมีคุณภาพต่ำกว่าปกติ จากผลกระทบของพายุเฮอริเคนและการประท้วงหยุดงานของ Boeing ในช่วงเดือนตุลาคม ทำให้มีโอกาสที่ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจออกมาต่ำกว่าคาดได้พอสมควร (นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมิน ยอดการจ้างงาน +1 แสนตำแหน่ง) หรืออาจเห็นยอดการจ้างงานดังกล่าว “ติดลบ” ได้ ซึ่งในช่วงแรกตลาดอาจจะตอบรับข้อมูลดังกล่าวในเชิงลบหรือกังวลต่อแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ มากขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงได้พอสมควร ตามการเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือเร่งลดดอกเบี้ย ทว่า เราอยากแนะนำให้ประเมินสภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านยอดการจ้างงานในส่วนของรายงาน Household Survey (Nonfarm Payrolls จะอยู่ในส่วนของ Establishment Survey) ซึ่งจะสะท้อนภาพการจ้างงานได้ดีกว่าในช่วงเผชิญปัจจัยกดดันชั่วคราว อย่าง สภาพอากาศที่แปรปรวน โดยข้อมูลใน Household Survey ที่น่าสนใจ คือ อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ซึ่งเรามองว่า อาจไม่ได้แตกต่างจากข้อมูลในเดือนก่อนหน้ามากนัก เช่นอยู่แถวโซน 4.1%-4.2% ทำให้โดยรวม ผู้เล่นในตลาดก็จะกลับมาเชื่อว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก ตาม Nonfarm Payrolls ทำให้มีโอกาสที่เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจรีบาวด์สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วในระยะสั้น เพราะธีม Trump Trades ก็ยังคงอยู่
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-34.00 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)