ธปท.ร่วมลงนาม MOU 4 ธนาคารกลางอาเซียนเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของประเทศในภูมิภาคอาเซียนตามโครงการ ASEAN Payment Connectivity ที่เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 นั้น ในวันนี้ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) และธปท. ได้ตกลงที่จะยกระดับความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน เพื่อเพิ่มศักยภาพบริการชำระเงินระหว่างประเทศ ให้รองรับการพัฒนาการเชื่อมต่อที่หลากหลาย และนวัตกรรมการให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศที่ครอบคลุมการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น
โดยธนาคารกลางทั้ง 5 แห่ง ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G20 โดยมีนาย Joko Widodo ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ร่วมกล่าวเปิดงาน ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญร่วมกัน และชื่นชมธนาคารกลางทั้ง 5 แห่ง ที่แสดงความมุ่งมั่นในการผลักดันนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเร่งการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค
ทั้งนี้ การเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน จะเป็นส่วนสำคัญในการเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค และส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึงมากขึ้น โดยจะช่วยสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนการโอนเงินระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ระบบนิเวศน์ทางการเงินในภูมิภาคครอบคลุมสู่ผู้ใช้บริการได้มากขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการมีส่วนร่วมในตลาดระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะครอบคลุมด้านต่าง ๆ เช่น การเชื่อมระบบ QR Code และการเชื่อมระบบการชำระเงินแบบทันที (fast payment)
นอกจากนี้ กลุ่มประเทศ G20 ได้จัดทำ "Roadmap for Enhancing Cross Border Payments" เพื่อผลักดันสมาชิกให้เร่งนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับวาระสำคัญว่าด้วยการขับเคลื่อนด้านดิจิทัลของอินโดนีเซียในฐานะประธานกลุ่มประเทศ G20 ซึ่งรวมถึงการพัฒนาระบบการชำระเงินดิจิทัลร่วมกับธนาคารกลางทั้ง 5 แห่งในครั้งนี้อีกด้วย โดยในระยะต่อไปสามารถขยายความร่วมมือไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินจะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซียในปี 2566 ต่อไป
ความร่วมมือในครั้งนี้สนับสนุนวิสัยทัศน์ร่วมของอาเซียน ที่ต้องการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค เพื่อให้ธุรกรรมการชำระเงินทำได้อย่างรวดเร็ว สะดวก และมีต้นทุนที่ถูกลง นอกจากนี้ ยังเป็นการวางรากฐานสำหรับประเทศอื่นในอาเซียนที่ต้องการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในระยะต่อไป และส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ตามแนวทางของอาเซียนที่มุ่งเน้นการสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน โดยคำนึงถึงระดับความพร้อมของแต่ละประเทศ
นายรณดล กล่าวว่า ปัจจุบัน อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากนานาประเทศในด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน โดย MOU นี้เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่ประเทศสมาชิกได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา และเป็นอีกก้าวสำคัญในการร่วมกันก้าวข้ามอุปสรรคด้านการชำระเงินระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน
"MOU ดังกล่าว สอดคล้องกับการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในปัจจุบันของอาเซียน ซึ่งเป็นการเชื่อมแบบทวิภาคี และจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเชื่อมแบบพหุภาคี เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนทางดิจิทัล และการรวมกลุ่มทางการเงินในภูมิภาคต่อไป" นายรณดล ระบุ