Economies

EXIM BANK เปิดเกมรุกปี 66 ปั๊มสินเชื่อโตเกิน 10% คาดกำไรพุ่งต่อเนื่องหลังปี 65 กำไรกว่า 1.5 พันล้าน พนักงานเฮ! รับโบนัส 6 เดือน
30 ม.ค. 2566

EXIM BANK ปักธงสินเชื่อปี 66 โตเกิน 10% เปิดกลยุทธ์ปล่อยสินเชื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นรับเศรษฐกิจ BCG ชูกลุ่ม "พลังงานสะอาด-แเพคเกจจิ้ง-Future Food"  กวาดตลาดเอสเอ็มอีเชิงรุก ลั่นปีนี้ยอดสินเชื่อคงค้าง 1.8 แสนล้าน หนุนกำไรโตต่อเนื่องหลังปี 65 กำไรกว่า 1.5 พันล้านบาท พร้อมจ่ายโบนัสพนักงาน 6เดือน


ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยถึง ทิศทางแผนดำเนินธุรกิจในปี 2566 ว่า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลงชัดเจน หลายหน่วยงานระดับชั้นนำของโลกมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวต่ำกว่า 2% ต่ำสุดในรอบ 30 ปี เป็นผลจากปัญหาเงินเฟ้อที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงและดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย ซึ่งคาดว่าจะเติบโตได้สูงสุดเพียง 2% หรือชะลอกว่า 2 เท่าจากปีก่อนหน้า อันเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ราคาสินค้าส่งออกเริ่มลดลง และเงินบาทผันผวนสูง  ในปีนี้ธนาคารคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อเติบโตได้เกิน 10%จากปี 2565 โดยคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างแตะ 1.8 แสนล้านบาท จากสินปีที่แล้ว ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่  1.68 แสนล้านบาท 

 

พร้อมกันนี้ ในปีนี้ธนาคารจะมีการเน้นให้สินเชื่อกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นให้สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของรัฐบาล เช่น สินเชื่อกลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาด , Packaging , Future Food เป็นต้น 

 

"เรามียอดสินเชื่อคงค้างเกือบ 1.7 แสนล้านบาท  การอนุมัติสินเชื่อใหม่แต่ละปีเกือบ 1 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือ SFIs ขนาดใหญ่ ปีที่แล้วเราปล่อยสินเชื่อช่วยสายการบินต่างๆไป จนวันนี้ทุกสายการบินฟิ้นตัวกลับมาและสามารถชำระหนี้ได้มาก ถ้าดูลูกค้าที่แอคทีฟมีจำนวน 3,000 ราย แต่ถ้าดูวงเงินคงค้างถือว่าเป็นรายใหญ่หลังจากนี้ เราจะพยายามมุ่งไปสู่คนตัวเล็กมากขึ้น เรามีการเชื่อมกับแบงก์รัฐในการปล่อยสินเชื่อที่ใช้ Credit Scoring เดียวกัน ปีนี้เราจะเห็นการปล่อยสินเชื่อร่วม (Syndicate loan)กับธนาคารต่างๆ  เราจะเอาโมเดลการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มเจ้าสัว มาเน้นกลุ่มเอสเอ็มอีมากขึ้น ซึ่งจะให้วงเงิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท"

 

ดร. รักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในปีนี้ ธนาคารคาดจะได้เงินเพิ่มทุนจากรัฐบาลเข้ามาอีกหลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ใส่เงินเพ่ิมทุนแล้ว 2,000 ล้านบาท และมีแผนจะออกพันธบัตรสิเขียว (Green Bond) สำหรับเอสเอ็มอี วงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยรองรับแผนการปล่อยสินเชื่อตามเป้าหมายในปีนี้


สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปมีโอกาสเกิดภาวะถดถอย จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ธนาคารมองเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจแถบตะวันออกกลางที่อยู่ระดับสูง 7% และเอเซียใต้โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่ฟื้นตัวกลับมาขยายตัวดี ซึ่งจะเป็นโอกาสการเปิดตลาดใหม่สำหรับผู้ส่งออกจะปรับตัวหาตลาดคู่ค้าใหม่ๆ  ท่ามกลางปัจจัยท้าทายและความไม่แน่นอนในหลากหลายมิติ โอกาสจึงเป็นของผู้ที่กล้าเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจไปยังตลาดที่มีศักยภาพและเหมาะกับสินค้าและบริการของธุรกิจ

 


ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในวันที่ 1 ก.พ. 2566 ธนาคารจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกู้ 0.25% ซึ่งถือว่าเป็นธนาคารที่ปรับขึ้นช้าสุด หลังจากตลาดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยกันแล้ว 0.81%ตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง 4 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ยังมีส่วนต่างดอกเบี้ยห่างกับตลาดอีกราว 0.56%อย่างไรก็ตาม ภายในปีนี้ ธนาคารทะยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ให้สอดรับกับตลาดที่ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว และให้เกิดผลกระทบต่อลูกค้าน้อยที่สุด 


ดร.รักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ ธนาคารคาดว่าจะสามารถทำกำไรสุทธิเพิ่มมากขึ้น หลังจากปีก่อนมีกำไรราว  1,504 ล้านบาท ได้จ่ายโบนัสให้พนักงานเฉลี่ย 6 เดือน 


ทั้งนี้ ผลดำเนินงานของ EXIM BANK ในปี 2565 เติบโตระดับสองหลัก (Double Digit Growth) โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 2,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.51% และมีกำไรสุทธิ 1,504 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่มากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แม้จะมีการช่วยเหลือลูกค้าด้วยการตรึงดอกเบี้ย Prime Rate มานานกว่า 6 เดือน ต่อเนื่องถึงสิ้นเดือนมกราคม 2566 ก็ตาม 

 

ยอดคงค้างสินเชื่อ 168,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,558 ล้านบาท หรือ 10.18% จากปีก่อน สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินงานในปี 2537 ทั้งนี้ อัตราการเติบโตดังกล่าวสูงกว่าระบบธนาคารถึง 2 เท่า ส่วน วงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 94,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 19.21% จากปีก่อนหน้า  และขยายตัว 17.91% ในกลุ่ม SMEs  ด้านปริมาณธุรกิจสะสมบริการประกัน 169,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 10.34% จากปีก่อน สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินงานเช่นเดียวกับด้านสินเชื่อ ขณะที่จำนวนลูกค้าทั้งด้านสินเชื่อและรับประกัน 6,102 ราย เพิ่มขึ้นสูงถึง 24.00% จากปีก่อนหน้า ถือเป็นผลงานการเติบโตที่มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 2 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2565 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 21,000 ราย วงเงินรวมกว่า 90,000 ล้านบาท

 


 

สำหรับ NPL Ratio เพียง 2.90% เป็นอัตราที่ต่ำกว่าเป้าหมายและต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ต่อเนื่อง 2 ปี และมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 12,821 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 262.99%

 

"ผลกำไรสุทธิที่เหลือ 1,504 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้ฯ ไว้ระดับสูงราว 270% เพื่อให้สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของธนาคาร ในปี 2566 ยังคงดูแล NPLs ไม่ให้เกินระดับ 3% พร้อมทั้งยังตั้งสำรองสูงต่อเนื่องให้อยู่ระดับใกล้เคียงปีก่อน"

ดร. กล่าวย้ำว่า  EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank) พร้อมทำหน้าที่ Miracle Maker พัฒนาธุรกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในเวทีโลก ด้วยการส่งเสริมการบุกตลาดการค้าการลงทุนที่มีศักยภาพและยกระดับสินค้าและบริการของไทยให้ได้มาตรฐานสากล โดยชูนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยทุกระดับมีความกล้าและความพร้อมที่จะเข้าสู่ Supply Chain การส่งออก การพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ ที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งนี้ ธนาคารมียอดคงค้างสินเชื่อที่สนับสนุนความยั่งยืน 47,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 21.83% จากปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 30% ของยอดคงค้างสินเชื่อทั้งหมด เติบโตสองหลักต่อเนื่อง 2 ปี

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com