ตามคาด!! กนง. มีมติเอกฉันท์ 'ขึ้นดอกเบี้ย' อีก 0.25% สู่ระดับ 2.25% สูงสุดรอบ 9 ปี มองดอกเบี้ยขึ้นใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว พร้อมส่งสัญญาณ 3 เสี่ยงเศรษฐกิจ-ภัยแล้ง-การเมืองไทย ยังมีความไม่แน่นอนสูง เตือนตั้งรัฐบาลใหม่ล่าข้า ฉุดภาคการลงทุนและ FDI กระทบ GDP
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมกนง. ในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.00 เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
ทั้งนี้ การปรับขึ้นนับเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดในรอบ 9 ปี
นายปิติ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยอุปสงค์จากต่างประเทศล่าสุดชะลอลงบ้างแต่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นในระยะต่อไป ด้านอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงและมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบเป้าหมายโดยยังมีความเสี่ยงด้านสูงคณะกรรมการฯ ประเมินว่าในบริบทเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพนโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวโดยการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้
สำหรับประเด็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายใกล้ถึงจุดที่เรียกว่าระดับปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจหรือไม่นั้น นายปิติกล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 อย่างค่อยเป็นค่อยไป มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ปัจจุบันก็เข้าใกล้จุด Neutral rate อย่างน้อยดอกเบี้ยที่แท้จริงก็ไม่เป็นลบ
"เราเข้าใกล้จุดถอนคันเร่งเกือบหมดมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเข้าใกล้จุด Neutral rate ก็ต้องดูว่าจะหยุด (ขึ้นดอกเบี้ย) ตรงจุดไหน โดยภาพรวม เศรษฐกิจเราฟื้นเข้าใกล้ระดับศักยภาพ ไม่มช่เกินศักยภาพ เหมือนต่างประเทศที่เศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ร้อนแรง ถ้าเราเข้าใกล้จุดบริบทเงินเฟ้อเข้ากรอบเป้าหมาย (2%) ดอกเบี้ยที่แท้จริง ใกล้เป็นบวกแล้ว แต่ก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เข้าใกล้ Neutral rate ซึ่งไม่ใช่แค่นี้ ตอนนี้มองไปข้างหน้า เรายังมีความไม่แน่นอนทั้งเศรษฐกิจต่างประเทศและภายในประเทศในระยะสั้นนี้ กนง.จะตัดสินใจอย่างไร ก็ต้องดูความชัดเจนของข้อมูล"
นายปิติ กล่าวด้วยว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนี้ ในตลาดมีมุมมองทั้งคาดการณ์ขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งการวิเคราะห์ของตลาด ก็มีข้อมูลเท่าๆกับ กนง. ซึ่งการประชุม กนง. รอบถัดไป ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือคงดอกเบี้ย ก็มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่จะเข้ามา และบริบทของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะกลาง
ทั้งนี้ในแถลงของกนง. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวในระยะสั้น ส่วนหนึ่งตามเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวได้ช้า แต่คาดว่าจะปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้าสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น ทั้งจากภาคการส่งออกสินค้าที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาดรวมถึงสถานการณ์การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากราคาในหมวดพลังงาน มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ และผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า แต่ประเมินว่าจะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหลังปัจจัยชั่วคราวทยอยหมดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงแต่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่าในอดีต โดยมีความเสี่ยงด้านสูงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับเพิ่มขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด ซึ่งอาจเร่งการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง
"กนง.มองว่าตัวเลขการส่งออก ออกมาแย่กว่าคาด เป็นปัจจัยชั่วคราว ส่วนหนึ่งมาจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีการสะสมสต๊อกไว้ล่วงหน้า แต่ในระยะต่อไปคาดว่าจะฟื้นตัวส่วนสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปแผ่วกว่าที่คิด ทำให้ภาพรวมการส่งออกชะลอกว่าคาด ซึ่งอาจจะกระทบเศรษฐกิจบ้าง แต่โดยรวมเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงตามคาด ซึ่งเป็นเพราะ,ฐานสูง แต่แนวโน้มเงินเฟ้อในครึ่งปีหลังถึงปีหน้ามีทิศทางจะเพิ่มขึ้น"
พร้อมกันนี้ กนง.ยังมีความเสี่ยง 3 ปัจจัย ที่ต้องติดตาม คือ 1.เศรษฐกิจโลกยังมีคงามไม่แน่นอนอยู่ แม้สหรัฐมีข่าวดีจากตัวเลขต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาด แต่ตัวเลขในจีนกับสหภาพยุโรปยังลดลง สะท้อนพัฒนาการที่ไม่แน่นอน 2.ความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย ที่มีผลต่อนโยบายภาครัฐในอนาคตที่ค่อนข้างสูง คิดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คาดนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าไม่ชัดเจน ขณะนี้ยังดูไม่ค่อยออก ซึ่งหากยิ่งมีความไม่แน่นอนก็จะยิ่งกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) มากกว่า โดยเฉพาะกระทบส่วนของการลงทุน และเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI). ยิ่งในกรณีรัฐบาลจัดตั้งล่าช้า จะส่งผลกระทบต่องบลงทุนล่าช้าถึง 2 ไตรมาสหรือถึงไตรมาสแรกปีหน้า จากเดิมคาดกระทบเพียง 1 ไตรมาส แต่ ในส่วนของงบรายจ่ายประจำไม่ได้กระทบ และ 3. ปัญหาภัยแล้ง ที่เอลนีโญกระทบรุนแรงและลากยาวกว่าที่คาดได้ ซึ่งจะส่งผลต่อเรื่องราคาอาหาร
สำหรับระบบการเงินโดยรวม กนง. มองว่า ยังมีเสถียรภาพ โดยธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่คุณภาพสินเชื่ออาจด้อยลงจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า คณะกรรมการฯ สนับสนุนการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)
ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลงแต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโน้มสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนที่ชะลอลงส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติหลังจากที่ได้ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงวิกฤต COVID-19 ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวน ตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ แนวโน้มเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเข้าสู่ระดับศักยภาพ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูง นโยบายการเงินยังควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืนควบคู่กับให้ความสำคัญกับเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ