ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แม้จะมีความหวังฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยว และการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าที่คาด แต่อีกด้านหนึ่งเป็นการฟื้นตัวท่ามกลางพายุเศรษฐกิจโลก ที่ถาโถมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วจนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้อาจไม่ทั่วถึง
"เศรษฐกิจไทยเพิ่งจะมาฟื้นตัวในตอนที่เศรษฐกิจโลก โตกันไปแล้วและกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัว เหมือนเรามางานปาร์ตี้สาย กว่าเพื่อน ปีนี้เรามองภาคท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตอนนี้หลายสำนักเศรษฐกิจ คาดเศรษบกิจสหรัฐแค่ชะลอตัว เพราะตัวเลขตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง แต่บางสำนักก็คาดถดถอย sofe landing เราคาดส่งออกไทยปีนี้คาดจะหดตัว หลังจากปีที่แล้วเป็นเครื่องยนต์หลักที่ดันเศรษฐกิจเติบโตได้ " ดร. พิพัฒน์กล่าว
ชี้ท่องเที่ยวฟื้น-ส่งออกฟุบ
จากการคาดการณ์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะชะลอตัวลงจากปีก่อน และหลายเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย นำโดยสหรัฐ และยุโรป แต่ด้วยปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางไม่สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะกระทบกับภาคการส่งออกของไทยโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก
“ตัวเลขการส่งออกของไทยซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจไทยในข่วงสองปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าช่วงปลายปีที่ผ่านมา ภาคส่งออกเริ่มหดตัว และมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูง และจากมูลค่าเฉลี่ยของการส่งออกในระยะ 5 ปีหลังการส่งออกไทยได้แตะจุดสูงสุดไปแล้วในปีที่แล้ว ดังนั้นจึงยากที่จะเติบโตในระดับสูงต่อไปในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยคาดว่าการส่งออกในปีนี้จะหดตัวอย่างน้อยในครึ่งปีแรก ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีเมื่อเศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัว และการส่งออกทั้งปีจะติดลบ 1.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน” ดร.พิพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ KKP Research ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จาก 2.8% เป็น 3.6% โดยมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว และการเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดของจีนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้จะไปแตะระดับ 25 ล้านคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 19 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ด้วยการ กระจุกตัวของภาคท่องเที่ยวไทยและห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ยาวเหมือนกับภาคการผลิตจะทำให้มีเพียงบางจังหวัดหรือบางภาคเศรษฐกิจเท่านั้นที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการฟื้นตัวนี้
ในภาพรวมความเสี่ยงเศรษฐกิจที่ต้องติดตามในปีนี้ได้แก่
1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะมาถึงเร็วและรุนแรงแค่ไหน และกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร
2. เงินเฟ้อโลกและเงินเฟ้อไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงจะสามารถกลับมาสู่ระดับปกติได้เร็วเพียงใด
และ 3. การเปิดเมืองของจีนจะราบรื่นตลอดทั้งปีหรือไม่ รวมไปถึงความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดที่ยังไม่สามารถมองข้าม นอกจากนี้ปีนี้ ยังเป็นปีที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งซึ่งอาจเพิ่มตัวแปรที่กระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน