Krungthai GLOBALMARKETS มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ 33.75-34.40 บาท/ดอลลาร์ หลังเปิดเช้านี้ที่ 34.19 บาทต่อดอลลาร์ คาดเฟดยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อจนแตะระดับ 5.25% จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมีนาคม อาจคาดว่าชะลอตัวลงต่อเนื่อง
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.19 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.07 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBALMARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ตลาดกลับมากังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวหนัก จนอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า แนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟดอาจชัดเจนขึ้น จาก รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ รวมถึงรายงานการประชุมเฟดล่าสุด และควรติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ในสัปดาห์นี้
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะออกมาแย่กว่าคาด สร้างความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ดี ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่ออกมาดีกว่าคาดนั้น ได้สะท้อนภาวะตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ (จาก CME FedWatch Tool ตลาดให้โอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อราว 71%) ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนมีนาคม รวมถึงรายงานการประชุมเฟดล่าสุดและถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในอนาคต โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงต่อเนื่อง +0.3%m/m หรือ +0.4%m/m สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI (ไม่รวมผลของราคาพลังงานและอาหาร) สอดคล้องกับการปรับตัวลงของราคาพลังงานและภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อ CPI และ Core CPI อาจยังคงอยู่ในระดับสูงราว 5.2% และ 5.6% ทำให้เรามองว่า เฟดก็ยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อจนแตะระดับ 5.25% ได้ตามที่คาดการณ์ไว้ใน Dot Plot ล่าสุด นอกเหนือจากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะภาพการบริโภคของครัวเรือน ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมีนาคม ซึ่งอาจยังคงหดตัวลงราว -0.4%m/m และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนเมษายน ที่อาจทรงตัวที่ระดับ 62 จุด หนุนโดยความกังวลปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารที่คลี่คลายลง รวมถึงการจ้างงานที่ยังคงแข็งแกร่ง แต่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจถูกกดดันบ้างจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว
▪ ฝั่งยุโรป – บรรดานักลงทุนและนักวิเคราะห์อาจเริ่มคลายกังวลปัญหาระบบธนาคารยุโรปและเริ่มปรับลดมุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนในอีก 6 เดือนข้างหน้า สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) เดือนเมษายน ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -10 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 0 หมายถึง มุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ) อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนอาจถูกกดดันโดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกุมภาพันธ์ ที่อาจพลิกกลับมาหดตัว -0.8%m/m (หรือคิดเป็น -3.5%y/y) ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงและต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นตามการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของทั้งสองธนาคารกลางหลัก
▪ ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.50% หลังอัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่อง (ล่าสุด 4.2%) อีกทั้ง เศรษฐกิจก็เผชิญความเสี่ยงด้านลบมากขึ้น ตามแนวโน้มการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการผลิตของเกาหลีใต้ ส่วนในฝั่งจีน ตลาดประเมินว่า ยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนมีนาคม จะหดตัว -7.2%y/y สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคการผลิตล่าสุด โดย Caixin (ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจส่งออก) ที่ชะลอตัวลงมากขึ้น ตามภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ยอดการนำเข้า (Imports) อาจหดตัวราว -7%y/y โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงพอสมควรจากปีก่อนหน้า ขณะที่การฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศยังช่วยหนุนยอดการนำเข้าอยู่
▪ ฝั่งไทย – เราคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งได้แรงหนุนจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการจ้างงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนภาคการบริการ จะช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนมีนาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53 จุด อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจยังคงเป็นภาวะเงินเฟ้อสูง
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ค่าเงินบาท มีโอกาสอ่อนค่าเล็กน้อย หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจริงตามคาด ทั้งนี้ เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก โดยมีโซนแนวต้านแถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรายังคงเห็นโฟลว์ขายเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ส่งออก นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่อาจเริ่มกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยมากขึ้นได้ หากตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น
อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงใกล้วันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ทำให้โฟลว์ธุรกรรมในตลาดการเงินอาจเบาบางลงกว่าช่วงปกติได้ นอกจากนี้ สัญญาณเชิงเทคนิคัล ทั้ง RSI และ MACD ยังชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideways โดยมีเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน (แถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์) เป็นโซนแนวต้านแรกในช่วงนี้ แต่หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านและยืนเหนือระดับ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ได้ ก็อาจเป็นสัญญาณที่ชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อ ขึ้นมาเคลื่อนไหวในโซนถัดไปในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงต้นสัปดาห์ ตามยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด ก่อนจะเคลื่อนไหว sideways ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และรายงานการประชุมเฟดล่าสุด
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.75-34.40 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.05-34.30 บาท/ดอลลาร์