Economies

สแตนชาร์ดหั่น GDP ปีนี้โต 4.3%  ฟันธงครึ่งปีหลัง ศก.โตดีกว่า ได้รัฐบาลใหม่-ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจน
20 เม.ย 2566

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ปรับลด GDP โต 4.3%  ไตรมาส 2 ช่วงเลือกตั้ง เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง  มองข้ามชอตครึ่งปีหลังโตดีกว่า แรงหนุนจากรัฐบาลใหม่ออกมาตรการกระตุ้นบริโภค บวกกับภาคท่องเที่ยวฟื้นชัดเจน แต่มีความเสี่ยง ศก. โลกชะลอ กดภาคส่งออก คาด ธปท. ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายปลาย พ.ค. และยืนคงที่ระดับ 2%ตลอดปีนี้ มองค่าบาทแตะ 34 บ./ดอลลาร์สิ้นปีนี้

 

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าว  ในไตรมาส 2 นี้  การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเผชิญความไม่แน่นอน  และน่าจะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพิ่มขึ้น ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี รัฐบาลใหม่จะใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนในการตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรี โดยคณะรัฐบาลน่าจะพร้อมทำงานอย่างเร็วที่สุดในเดือนกรกฎาคม  อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการเมืองและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ชัดเจนขึ้นจะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของปีนี้ ยังคงเติบโตได้ดี 

 

“รัฐบาลใหม่จะเริ่มทำงานได้อย่างเต็มที่และออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค ประกอบกับการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นของภาคการท่องเที่ยวจากอานิสงค์ของการ กลับมาของนักท่องเที่ยวจีน  โดยคาดว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะเติบโตร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และปรับตัวดีขึ้นกว่าการเติบโตที่ร้อยละ 2.9 ในครึ่งปีแรก 

 

อย่างไรก็ตาม ปีนี้เศรษฐกิจโลกยังคงไม่สดใส ธนาคารฯจึงได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเติบโตร้อยละ 4.3 (เดิมคาดเติบโตร้อยละ 4.5) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดจะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 (เดิมคาดไว้ที่ร้อยละ 2.7) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดจะอยู่ที่ร้อยละ 1.7 (เดิมคาดไว้ที่ร้อยละ 3.3) ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะอยู่ที่ร้อยละ3.6 ของจีดีพี (เดิมคาดไว้ที่ร้อยละ 4.0)  แต่ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2566 ขึ้นเป็น 25 ล้านคน จากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ 15-20 ล้านคน อย่างไรก็ตามจำนวนนักท่องเที่ยวยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือน 40 ล้านคน ทั้งนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนประมาณ 5 ล้านคนในปีนี้ (เทียบกับ 11 ล้านคนในปี2562) โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่น่าจะหนาแน่นขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป

 

“เราปรับลดประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ซึ่งสะท้อนตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต่ำกว่าคาด  และโอกาสที่จะมีความล่าช้าในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากมีการเลือกตั้ง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงไม่สดใสเรายังคงมีมุมมองที่เฝ้าระวังต่อดุลบัญชีการค้า สาเหตุมาจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงและการนำเข้าที่ยังคงมีมูลค่าสูง โดยความเคลื่อนไหวเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การค้าโลกในช่วงครึ่งปีหลังและการนำเข้าของไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้น การส่งออกและนำเข้าที่สอดคล้องกันอาจช่วยลดการขาดดุลการค้า “

 

ในส่วนของภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารฯยังคงมีมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี สอดคล้องกับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะอยู่ในระดับต่ำที่สุดที่ร้อยละ 1.2 ในไตรมาสที่ 3 และปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ในไตรมาสที่ 4   ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส3 เป็นต้นไป เนื่องจากประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว โดยคาดว่าเงินเฟ้อและการบริโภคจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายทางเศรษฐกิจและนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายจากรัฐบาลใหม่ ในส่วนของปัจจัยด้านอุปทาน ราคาพลังงานและราคาอาหารที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ

 

ดร. ทิม กล่าวว่า ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.25% ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ โดยดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2 ในสิ้นปีนี้ แม้ว่ายังมีความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก แต่ดัชนีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของไทยประกอบกับมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจเชิงบวกของธปท. จึงมองว่า ธปท. น่าจะยังดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกลับสู่ภาวะปรกติเพื่อเพิ่มพื้นที่นโยบาย

 

สำหรับภาพรวมตลาดเงิน ในระยะกลางสำหรับค่าเงินบาทยังคงดี แม้ว่าจะมีความผันผวนในระยะสั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลง และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว น่าจะเป็นผลดีต่อบัญชีทุนและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยช่วงกลางปีนี้เคลื่ออนไหวรผันผวน แตะระดับ 34.50บาท  แต่ปลายปีจจะแข็งค่าปิดสิ้นปี 34.00 บาท/ดอลลาร์

 

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com