Economies

TIA จัดสัมมนาสัญจร ครั้งที่ 2 เชียงใหม่ เดินหน้าให้ความรู้การดำเนินคดีแบบกลุ่ม “Class Action”
26 ก.ค. 2566

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ร่วมมือ ธปท. สัมมนาสัญจร ให้ความรู้การดำเนินคดีแบบกลุ่ม “Class Action” ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่    หวังเป็นกลไกหนึ่งในการดูแลและรับมือ “ภัยในตลาดเงิน และ ภัยในตลาดทุน” ด้าน ธปท.เปิดตัวเลข ร้องผ่าน 1213 ครึ่งปี 5 พันเรื่อง หลอกให้กู้ -โอนเงินผ่านแอบพลิเคชั่น  

 

นายยิ่งยง นิลเสนา นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA)  เปิดเผยว่า  สมาคมเดินหน้าให้ความรู้ และผลักดันให้กฎหมาย ฟ้องคดีแบบกลุ่ม - Class Action เข้ามาเป็นกลไกในการดูแล ช่วยเยียวยาผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหาย   หากเกิดกรณีถูกฉ้อฉล ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการลงทุน   ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ค 2566  สมาคมได้จัดสัมมนาสัญจร ที่จังหวัดเชียงใหม่  นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 2 ของ TIA ในการเดินสายให้ความรู้ เรื่อง การฟ้องคดีแบบกลุ่ม - Class Action  โดยมีกลุ่มผู้นำทางสังคม  กลุ่มบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม กลุ่มทนายความ กลุ่มนักลงทุน  กลุ่มโบรกเกอร์ กลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมาย กลุ่มข้าราชการปกครอง และกลุ่มสื่อมวลชน กว่า100 คนเข้าร่วมสัมมนา  

 

“สมาคมจะจัดสัมมนาสัญจร ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท)  ต่อเนื่องตามแผนจะจัด 3 ครั้งในปีนี้ ครั้งแรกจัดที่ขอนแก่น และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 จัดที่เชียงใหม่  และสงขลาเป็นจังหวัดสุดท้าย  โดยทั้ง 3 จังหวัดมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เปิดสาขาเพื่อให้บริการกับ    นักลงทุน  โดยขอนแก่น มีจำนวน 16 สาขา,เชียงใหม่จำนวน 26 สาขาและสงขลาจำนวน 20 สาขา  มีมูลค่าซื้อขายติดท็อป 5   โดยเชียงใหม่มูลค่าซื้อขายอยู่ติดอันดับ 2  ขอนแก่น มีมูลค่าซื้อขายติดอันดับ 4 และสงขลามีมูลค่าซื้อขายอันดับ 5”  นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยกล่าว

 

ทั้งนี้หากดูตัวเลขสถิติการทำผิดในตลาดทุนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดก็เกิดกรณีของ  STARK ที่ส่งผลกระทบวงกว้าง กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งขณะนี้ซึ่งทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI)ประเมินความเสียหายเกือบ 1 แสนล้านบาท ในส่วนของ สมาคมได้ทำหน้าที่ เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้น STARK และมีผู้เสียหายมาลงทะเบียนกว่า 1,759 ราย ที่จะดำเนินการ ต่อไปภายใต้ กฎหมาย Class Action  กรณีนี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนรายบุคคลจำนวนมากและเป็นวงกว้างและการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆก็จะเดินหน้าต่อไป  

 

ขณะที่ความคืบหน้าในการจัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม - Class Action”  ยังอยู่ในขบวนการจัดตั้งและอยู่ในการพิจารณาว่า มูลฐานความผิดที่จะเข้าข่ายและใช้ Class Action ได้ จะมีประมาณ 7 มูลฐานประกอบด้วย  1.ผิดสัญญา 2.การเปิดเผยข้อมูล 3.การเสนอขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับอนุญาต 4.การทุจริตของกรรมการและผู้บริหาร 5.การสร้างราคา 6.การใช้ข้อมูลภายใน และ 7.การครอบงำกิจการ    

 

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานในการเปิดงานสัมมนาสัญจร  กล่าวว่า  เป็นเรื่องดีที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยและ ธปท.จัดสัญจรให้ความรู้ประชาชนเรื่องภัยการเงินและการลงทุน  เชียงใหม่เป็นจังหวัดขนาดใหญ่    เป็นเมืองที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ  ซึ่งภัยทางการเงิน และการลุงทน  อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลากับทุกคน  ดังนั้นการให้ความรู้ การมีมาตรการและเครื่องมือเข้ามาช่วยก็จะสามารถดูแลประชาชนได้   

 

คุณพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดสัมมนาสัญจรเพื่อให้ความรู้เรื่อง ภัยทางการเงินและตลาดทุน เป็นความร่วมมือของ ธปท.ทั้ง 3 สำนักงาน คือ  เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา   ร่วมมือกับ TIA   เดินสายให้ความรู้กับประชาชน  พร้อมรับมือกับภัยทั้งในตลาดเงินและตลาดทุนที่จะเกิดขึ้นได้  และ ธปท.  มีบทบาทดูแลความมั่นคงระบบการเงิน  ให้ความคุ้มครองผู้ใช้ทุกท่าน ดังนั้นความร่วมมือในการให้ความรู้กับประชาชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ทั้งนี้สถิติการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1213 พี่น้องประชาชน สามารถร้องเรียนเข้ามาได้ทุกเรื่อง ทั้งหลอกลงทุน  แก้ไขปัญหาหนี้    โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566  มีประชาชนร้องเรียนเข้ามากว่า 5,000 สาย  ขณะที่ปี 2565 อยู่ที่ 10,000 สาย   เรื่องหลักๆ ที่ร้องเข้ามาคือ หลอกลงทุน แอบพลิเคชั่นกู้เงินนอกระบบ และนับตั้งแต่มี พรก.ที่เกิดขึ้นกับความร่วมมือ ของกระทรวงดีอี สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีผลบังคับใช้เมื่อ  มี.ค 2566  ถึง 30 มิ.ย 2566  มี มูลค่า ความเสียหาย 6,000 ล้านบาทสามารถอายัดบัญชีได้ประมาณ 10%   

 

     รศ.ดร. ปานทิพย์ พฤกษาชลวิทย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัย  เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่มสำหรับผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า   ประเภทคดีที่อาจดำเนินคดีแบบกลุ่ม Class Action   เช่น คดีหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คดีคุ้มครองผู้บริโภค คดีแรงงาน คดีป้องกันการผูกขาด คดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คดีคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและคดีที่เกี่ยวกับบริการทางการเงินเป็นต้น

 

   ทั้งนี้ ประเทศไทยคดีฟ้องกลุ่มที่เข้าสู่ศาล ส่วนใหญ่เป็นคดีผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ส่วนคดีหลักทรัพย์นั้นยังไม่มี ต่างจากสหรัฐอเมริกาการดำเนินคดีแบบ  ฟ้องคดีกลุ่ม เกิดขึ้นแพร่หลายมากโดยปี 2565 มี  จำนวน   635 คดี มูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ       ส่วนกรณี STARK  การรวมกลุ่มกันฟ้อง นั้นจะต้องมีการบรรยายระยะเวลาที่เกิดความเสียหายให้ชัดเจน เพื่อให้ศาลได้เห็นถึงความเป็นสมาชิกกลุ่ม และใครจะเป็นผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการฟ้อง Class Action  เพราะถือว่าว่าความเป็นธรรมที่สุด 

 

นอกจากนี้ ทางทีมวิจัยยังพบว่า ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานแล้วก็รวบรวมข้อมูลต่างๆ หรือว่าช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีต่างๆ การจะเป็น Class Action  ได้ส่วนใหญ่จะต้องมีผู้เสียหายเยอะมากๆ แต่ในทางกลับกันการทำงาน  กับผู้เสียหายจำนวนมากๆที่อยู่กระจัดกระจายกันทั่วประเทศ ก็เป็นเรื่องยาก และยังมีปัญหาจำนวนสมาชิกกลุ่มที่ได้รับความเสียหาย อาจหายไปในระหว่างการดำเนินคดี  รวมถึงการกลั่นกรอง  คัดแยก ยืนยันตัวตนสมาชิกกลุ่ม ต้องชัดเจน  ซึ่งถ้าสมาชิกกลุ่ม ไม่มีความถูกต้องชัดเจน อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์คนที่ไม่ได้เสียหายจริงๆเข้าไปบนอยู่ หรือคนที่อาจจะมีส่วนได้ส่วนเสียหรืออยากจะทำให้คดีไปในทิศทางที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับกลุ่มใหญ่แต่เป็นประโยชน์กับกลุ่มเล็กๆแทนเป็นต้น

 

  ทั้งนี้ ทางสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ได้ดำเนินการเชิงรุกในการเดินสายให้ความรู้สร้างความเข้าใจ เรื่อง Class Action     โดยประสานความร่วมมือกับ ทุกหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาอยู่ในขบวนการของการดำเนินคดี  ทั้ง ร่วม สภาทนายความแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการจัดหลักสูตรให้กับทนายความ ผู้ที่มีความสนใจ ในสายวิชาชีพนี้อีกด้วยจะร่วมกับ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม  จัดโครงการอบรมให้ข้าราชการศาล เป็นต้น

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com