กมธ.ไอซีที จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาหลอกลวงซื้อขายทางออนไลน์ หนุนสร้างสร้าง App กลาง ลดความซ้ำซ้อน คุมเข้ม สัญญามือถือตามแนวชายแดน แนะตั้งคณะกรรมการระดับชาติดูแลเข้ม
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เพื่อพิจารณาความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หลังจากผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน กสทช. เข้าร่วมชี้แจง พบว่าประชาชนได้ร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ เรื่องซื้อขายออนไลน์ ตุลาคม 2565 จำนวน 48,474 ครั้ง (เฉลี่ย 5,069 ครั้ง/เดือน) พบบ่อย คือ เป็นปัญหาการซื้อขายทางออนไลน์ ได้แก่ การหลอกโอนเงิน ไม่ส่งสินค้าจริงและได้รับสินค้าไม่ตรงตามข้อตกลง ไม่ได้ตามที่โฆษณา
คณะกรรมาธิการมีความเห็นว่า แม้หลายหน่วยงานของรัฐ ร่วมแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าหรือมีผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร ยังพบว่าในแต่ละวันยังมีประชาชนจำนวนมาก ตกเป็นเหยื่อ จากการหลวกลวงดังกล่าว กมธ.ไอซีที จึงข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้ 1. ควรพัฒนากระบวนการ รับเรื่องร้องเรียน เพื่อ อำนวยความสะดวก ในการแจ้งเรื่องราวต่าง ๆ ของประชาชน เช่น การสร้าง Application กลางที่มีลักษณะเป็นศูนย์รับแจ้งเรื่องราวเกี่ยวกับอาชญากรรม ทางเทคโนโลยีทั้งหมดแบบ One Stop Service เพื่อความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ได้รับเดือดร้อนเสียหาย
2. ควรแก้ไขปัญหาความแรงของสัญญาณโทรศัพท์มือถือตามเขตชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มิจฉาชีพสามารถใช้โทรศัพท์มือถือโทรจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาก่อเหตุหลอกลวง หรือกระทำความผิดในประเทศ ไทย ควรปรับระดับลดความแรงของสัญญาณโทรศัพท์หรือปรับหันทิศทางของเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์
3. กสทช. ควรติดตามตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างเข้มงวดให้ตัวแทนจำหน่ายซึ่งขายซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือต้องลงทะเบียนผู้ใช้บริการก่อนเปิดใช้งานทุกครั้ง และควรมีมาตรการลงโทษตัวแทนจำหน่ายอย่างจริงจังในกรณีที่ตัวแทนจำหน่ายดำเนินการลงทะเบียนใช้งานแทนผู้ใช้งานที่แท้จริง
4. ควรมีนโยบายในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน เช่น การจัดตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี การบูรณาการในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือการเพิ่มบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้หลายหน่วยงาน ทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เหมือนศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19(ศบค.) ที่เคยประสบความสำเร็จในการดำเนินการเกี่ยวกับ Covid 19 มาแล้ว
สามารถแจ้งเรื่องราวร้องเรียนไปยังสายด่วน ของหน่วยงานต่าง ๆ ใน ๓ ช่องทางหลัก ได้แก่
-ศูนย์ Call Center ของผู้ให้บริการแต่ละรายได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น AIS 1175 DTAC 1675 TRUE 02 700 8085 โดยภายหลังการรับเรื่องหรือตรวจสอบแล้ว ผู้ให้บริการจะมีการแจ้งผลให้แก่ผู้แจ้งด้วย
-หมายเลข 1212 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รับแจ้งเรื่องราวทั้งเรื่องการหลอกลวง การละเมิดลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง
-หมายเลข 1200 ของสำนักงาน กสทช. ซึ่งจะรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับโทรคมนาคมเป็นหลัก เฉพาะในวัน เวลาราชการ