Economies

EIC มองสงครามรัสเซียกระทบ ศก.ไทย ส่งออก Q2 -เงินเฟ้อเร่งตัวเริ่มเห็นภาพชัด
18 พ.ค. 2565

EIC เผยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังการแพร่ระบาดโอมิครอนเริ่มคลี่คลาย และการทยอยเปิดประเทศ แต่ผลกระทบจากสงครามรัสเซียเริ่มส่งผลต่อการส่งออก Q2/65 ชะลอ-เงินเฟ้อเร่งตัวชัดเจนขึ้น จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยง
          
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2/65 โดยคาดว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอนที่เริ่มคลี่คลายจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ทยอยลดลงและอัตราการได้รับวัคซีนของประชากรในระดับสูง ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศฟื้นตัว ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวจากการทยอยเปิดประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะจากเพื่อนบ้านในเอเชีย
          
อย่างไรก็ตาม EIC คาดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จะเริ่มเห็นถึงผลกระทบของสงครามในยูเครนในระยะต่อไป ผ่านผลกระทบของการค้าและเงินเฟ้อ โดยส่งออกไทยจะเริ่มเห็นผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ โดยเฉพาะจากจีน รวมถึงปัญหาชะงักงันของอุปทานโลกจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน แม้ที่ผ่านมาผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกไทยจะยังจำกัดในไตรมาสแรก แต่ EIC คาดว่า การส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบมากขึ้นในไตรมาส 2 ขณะที่ผลกระทบด้านเงินเฟ้อจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น จะสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศในระยะถัดไป
          
สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 65 นี้ คาดว่า มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุนสำคัญในช่วงหลังของปี จากแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่ดีกว่าคาด ซึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายนโยบายควบคุมโรค และเปิดเมืองที่เร็วขึ้น ประกอบกับการส่งออกที่ยังขยายตัวแต่จะชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปีจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว
          
ทั้งนี้ EIC คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวอย่างช้า ๆ ที่ 2.7% แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ต้องจับตา ได้แก่
          
(1) ราคาน้ำมันที่อาจเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าคาด จากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนอาจทำให้เกิดความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจซบเซาคู่กับเงินเฟ้อสูง (stagflation) ที่รุนแรงและเนิ่นนานขึ้น
          
(2) การชะงักงันของอุปทานในภาคการผลิตและขนส่ง รวมถึงอุปสงค์ที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาด ทั้งจากการใช้นโยบายปิดเมืองที่เข้มงวดของจีน และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียโดยชาติตะวันตก รวมถึงการตอบโต้จากฝั่งรัสเซีย อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าคาด และกระทบต่อการส่งออกของไทย
          
(3) การดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางหลักของโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่อาจทำให้ภาวะการเงินโลกตึงตัว และผันผวนมากขึ้น
          
(4) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจากผลกระทบด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น จนอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้าง
          
อย่างไรก็ดี EIC กำลังติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ก่อนมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com