เงินบาท“แข็งค่าเล็กน้อย”เปิดเช้านี้ที่ 34.92 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดจะอยู่ที่ระดับ 34.80-35.05 บาท/ดอลลาร์ ตลาดรอลุ้นถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด John Williams และผลการประมูลพันธบัตร 10 ปี สหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.92 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.96 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideway (แกว่งตัวในช่วง 34.86-35.01 บาทต่อดอลลาร์) ท่ามกลางการเคลื่อนไหวในกรอบของทั้งเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์ 10 สหรัฐฯ และราคาทองคำ ซึ่งเป็นไปได้ว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในช่วงคืนของวันพฤหัสฯ นี้ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า เงินบาทยังคงมีโซนแนวต้านสำคัญแถว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์และสกุลเงินหลัก เช่น ค่าเงินเยน หลังเงินเยนกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็ว เมื่อเทียบกับเงินบาท อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจยังไม่สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นชัดเจนได้ ท่ามกลางปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า ทั้งการปรับเปลี่ยนมุมมองแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาด รวมถึงปัจจัยล่าสุดอย่างความกังวลแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยจากแรงกดดันทางการเมือง
บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ นี้ นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็อาจถูกกดดันบ้างจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงนี้ อาทิ Raphael Bostic (Voter) ที่ยังออกมาสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าเฟดจะสามารถคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ ทำให้โดยรวมดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างก็เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideway โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.15%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลง -0.19% กดดันโดยการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ LVMH -1.5%, Rio Tinto -2.0% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่ม Healthcare อาทิ Roche +0.7%
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideway ใกล้ระดับ 4.00% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในวันพฤหัสฯ นี้ ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะถือครองบอนด์ที่ชัดเจน ซึ่งจะสอดคล้องกับการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทั้งนี้ เรายังคงแนะนำว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นออกมาดีกว่าคาดในช่วงนี้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคา โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์ โดยในส่วนของบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจเริ่มเห็นการขาดทุนได้ (Total Return ติดลบ) หากบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นเกิน +50bps จากระดับปัจจุบัน หรือ เกินระดับ 4.50%
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.3-102.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวขึ้นทะลุโซน 2,040-2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงใกล้ระดับ 2,035 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะการย่อตัวของราคาทองคำในการเข้าซื้อ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้บ้างในช่วงคืนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เราประเมินว่า หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ ทดสอบโซนแนวต้าน 2,060-2,070 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำในโซนดังกล่าว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็จะสามารถช่วยให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้
สำหรับวันนี้ แม้ว่าจะไม่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญมากนัก ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด John Williams (Voter) ในช่วงเวลา 03.15 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็จะรอลุ้นผลการประมูลบอนด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงเวลา 01.00 น. ซึ่งผลการประมูลดังกล่าวก็อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี ในระยะสั้น ก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจจำกัดอยู่ในโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์และสกุลเงินหลักอื่นๆ ของผู้เล่นในตลาด อีกทั้งผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในช่วงคืนวันพฤหัสฯ ทำให้เงินบาทก็อาจยังไม่มีทิศทางการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่มีทิศทางผันผวนและเริ่มเห็นแรงขายเพิ่มขึ้นของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น ก็อาจเป็นปัจจัยที่คอยกดดันเงินบาทให้ผันผวนอ่อนค่า หรืออย่างน้อยก็กลับมาแข็งค่าได้ยากในช่วงนี้ ซึ่งเราคงประเมินว่า เงินบาทก็อาจยังมีแนวรับแถว 34.75-34.80 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.80-35.05 บาท/ดอลลาร์