นางสาวพิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทและสกุลเงินภูมิภาคเคลื่อนไหวผันผวนทั้ง 2 ทิศทางตามภาวะตลาดการเงินโลก จากปัจจัยความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงินสหรัฐฯ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังการเปิดประเทศ
ทั้งนี้ การแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อคณะกรรมาธิการประจำวุฒิสภาในช่วงข้ามคืนเป็นการส่งสัญญาณว่า ธนาคารกลางสหรัฐ ( FED ) อาจขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วและมากกว่าคาด หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสะท้อนความแข็งแกร่งและเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า FED อาจกลับมาดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับแข็งค่าขึ้น 1.2% ขณะที่เงินบาทปรับอ่อนค่าลง 1.5% ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของเงินสกุลภูมิภาคที่อ่อนค่าระหว่าง 0.3% - 1.7% ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายโดยรวมตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติมีฐานะขายสุทธิในสินทรัพย์ไทยประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ โดยเป็นการขายสุทธิในตลาดพันธบัตรที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์ และตลาดหุ้น 0.8 พันล้านดอลลาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 มี.ค. 2566)
“ในระยะข้างหน้า ตลาดการเงินโลกและค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนสูงโดยเคลื่อนไหวได้ทั้ง 2 ทิศทาง จากการปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯและความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ ภาคเอกชนจึงควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังคงอยู่ในระดับสูง”นางสาวพิมพ์พันธ์ กล่าว