ยังถกเถียงกันไม่เลิก ว่า “กัญชา” ยังคงเป็นยาเสพติดหรือไม่ โดยเฉพาะสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ปปส.) ที่ยังคงตีความทางกฏหมายให้เป็นยาเสพติด ทั้งๆ ที่ประมวลกฏหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบษา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ไม่มีชื่อของกัญชา นั่นแปลว่า กัญชาถูกปลดล็อค ไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป
การตีความของ ปปส. จึงสร้างความสับสนให้กับผู้ปฏิบัติที่ต้องการทำมาหากินโดยสุจริต แต่พอจะปลูกกัญชากลับมีเสียงฮึ่มๆ จากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ขู่จะจับดำเนินคดี แม้ว่า ผู้ที่ปลูกกัญชาจะปลูกเพื่อรักษาโรคก็ตาม ถือเป็นการตีความในมิติทางรัฐศาสตร์อย่างเดียว โดยละเลยมิติทางการแพทย์ และมิติทางเศรษฐศาสตร์อย่างสิ้นเชิง
สวนทางกับนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมและผลักดันให้ กัญชาเป็น Product Champion เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ในมิติทางการแพทย์ ผู้ที่ได้รับผลดี คือ ผู้ป่วย เพราะมีบทความวิจัยสำคัญๆ ทั้งในและต่างประเทศ ที่กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้จากกัญชา-กัญชง และสารสกัดที่ได้เมื่อนำไปผลิตยาสามารถป้องกันหรือรักษาโรคสำคัญๆ ได้ หลายชนิด แม้กระทั่งโรคโควิด-19 ก็มีบทวิจัยกล่าวถึง
หากมองกัญชา-กัญชง ในมิติของเศรษฐศาสตร์ มีความเห็นจากมุมมองของผู้ประกอบการอย่าง นายโจนาธาน วัฒน์สุขสันติ กรรมการ บริษัท MFUSED Group เอเซียแปซิฟิก ให้ข้อมูลว่า สารสกัดจากกัญชง-กัญชา รวมถึงพืชสมุนไพรทางการแพทย์ และเพื่อสุขภาพ มีแนวโน้มเติบโตอย่างมากในตลาดโลก ขณะที่ตลาดในไทยคาดว่า ในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 20,000 ล้านบาท ส่วนตลาดในภูมิภาคมีมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านบาท
นั่นจึงเป็นที่มาของการเข้าร่วมเป็นพันธมิตร กับ บมจ.ดีโอดี ไบโอเทค (DOD) เพื่อร่วมกันสร้างฐานการปลูก การสกัด การผลิต และจำหน่ายกัญชง-กัญชา เพื่อให้ไทยเป็น HUB ด้านการส่งออกไปยังตลาดโลกภายใน 3 ปีข้างหน้า เพราะไทยได้เปรียบประเทศอื่นๆ ทั้งในเรื่องพื้นที่ภูมิอากาศ และต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า
ขณะที่บริษัทภาคเอกชน รวมถึงบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นไม่น้องกว่า 40 บริษัท ก็ประกาศตัวอย่างชัดเจน พร้อมจะลุยธุรกิจด้านกัญชา ทั้งธุรกิจ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สร้างมูลค่าตลาดกัญชาในระบบเศรษฐกิจ
ในมิติเศรษฐศาสตร์ จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล มีผู้ได้รับประโยชน์จำนวนมาก ทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำ โรงงานสกัดสาร CBD ซึ่งเป็นธุรกิจกลางน้ำ หรือธุรกิจปลายน้ำ อย่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมเครื่องสำอางค์
ยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ที่กำลังเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ที่ทุบเศรษฐกิจไทยพังพินาศ คนไทยตกงานขาดรายได้ ดังนั้นจึงควรหันมามองในมิติทางเศรษฐศาสตร์บ้าง อย่ามองแต่มิติทางรัฐศาสตร์ เพียงอย่างเดียว
เฉพาะธุรกิจต้นน้ำที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรคนรากหญ้า มีรายงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประกาศอัตราการจัดเก็บรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตพืชกัญชา ดังนี้ 1. ใบกัญชาสด 2,000 บาท/กก. 2. ใบกัญชาแห้ง เกรด A 20,000 บาท/กก. 3. ใบกัญชาแห้ง เกรด B 15,000 บาท/กก. 4. ใบกัญชาแห้ง เกรด C 7,500 บาท/กก. 5. ยอดอ่อน เกรด A 35,000 บาท/กก. 6. รากกัญชาสด 4,000 บาท/กก. และลำต้นกัญชาสด 1,000 บาท/กก.
เป็นราคา ที่สร้างแรงจูงใจ และให้ผลตอบแทนดีกว่า การปลูกพืชไร่พืชสวนบางชนิดที่เกษตรกรปลูกอยู่ หากเปิดโอกาสให้ชาวบ้านปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้ น่าจะช่วยให้ลืมตาอ้าปากได้ เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีราคา ปลูกก็ง่าย ขายก็ได้ราคา
ไม่ใช่หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ปลูกแต่ข้าว จนหลังขดหลังแข็ง แถมต้องเป็นหนี้หลังเก็บเกี่ยว
สอดคล้องกับความเห็นของคุณศุภชัย ใจสมุทร รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด รัฐสภา ที่ระบุว่า สำหรับผม และพรรคภูมิใจไทย กัญชา คือ ยารักษาโรค และยาแก้จน
เมื่อ "กฎหมายแม่" ระบุว่า กัญชา ไม่ใช่ยาเสพติด เรื่องของการจับกุมผู้ป่วยที่ปลูกไว้รักษาตัวเอง ก็ควรจะหมดสิ้นไปเสียที เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายยาเสพติดฉบับปัจจุบัน ก็ชัดเจนว่า ให้กัญชา เป็นพืชสมุนไพร และเป็นพืชเศรษฐกิจ จึงทำให้ไร้ชื่อกัญชาในฐานะยาเสพติด
ป.ป.ส. ทราบหรือไม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้อ้างอิงรายงาน The Global Cannabis Report ของ Prohibition Partners ว่า มูลค่าตลาดกัญชาทั่วโลกจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2567 คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.039 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์มีสัดส่วนราว 60% และอีก 40% เป็นตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ
สำหรับตลาดกัญชาในเมืองไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดกัญชาถูกกฎหมายยังมีมูลค่าน้อยมาก แต่หากมีการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และมีการจำหน่ายในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยในปี 2564 น่าจะมีมูลค่าราว 3,600-7,200 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.02-0.04% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
และคาดการณ์ ว่า หากภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง ภายในปี 2567 "ตลาดกัญชา"ในประเทศไทย น่าจะเติบโตเป็น 661 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 2.1 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ มีข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยเอกสารซื้อขายกัญชาในส่วนที่ไม่ใช่ยาเสพติดจากระบบ อย. (ณ 21 ธ.ค. 2564) 3,857 ฉบับ ขณะที่ปริมาณการซื้อขายกัญชาแยกตามส่วนของพืช แบ่งเป็นใบ 7,130,171.47 กรัม ลำต้น 1,182,098.62 กรัม ราก 839,943.96 กรัม กิ่งชำ 432,370.00 กรัม ผงใบกัญชา 501.70 กรัม และช่อดอก 181.00 กรัม
และมีการนำส่วนของกัญชามาใช้ประโยชน์ แบ่งเป็น 5-6 กลุ่ม อันดับแรก อาหาร 6,031,020.53 กรัม คิดเป็น 62.92% ถัดมาเป็นการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบอาหาร-เครื่องดื่ม อาทิ เครื่องเทศ และก๋วยเตี๋ยว และนำไปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์สมุนไพร 1,563,127.22 กรัม หรือ 16.31% ส่วนตำรับยาแผนไทย 1,226,709.00 กรัม หรือ 12.8% ทั้งนำไปใช้กับเครื่องสำอาง 595,484.00 กรัม หรือ 6.21% ทั้งเป็นส่วนผสมของสกินแคร์ ผลิตภัณฑ์ขัดผิว แชมพู ครีมทาหน้า สบู่ และท้ายที่สุดนำไปศึกษาวิจัย
ทำไม ป.ป.ส. จึงไม่คิดจะส่งเสริมให้คนไทย เกษตรกรไทย ปลูกกัญชาเป็นพืชสมุนไพรเพื่อใช้ในการรักษา หรือปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ส่งขายให้กับภาคอุตสาหกรรมนำไปต่อยอด หรือปลูกเพื่อส่งออก ให้คนไทยได้ลืมตาอ้าปาก