รมว.คลัง ยอมรับบทบาทสินทรัพย์ดิจิทัลต่อเศรษฐกิจไทย แต่ยังต้องพัฒนา-แก้ปัญหาหลายมิติ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "อนาคตประเทศไทยกับสินทรัพย์ดิจิทัล" ในงานสัมมนา สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต ว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเก่า การพึ่งพาภาคท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการะบาดของโควิด-19 มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องปรับตัวเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจะมีส่วนในการเข้ามาพัฒนาภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก นั่นคือ โลกของดิจิทัลเทคโนโลยี โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (63-64) ไทยมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเกิดสินทรัพย์ประเภทใหม่ย่าง "สินทรัพย์ดิจิทัล"
จากข้อมูลพบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มขึ้นเป็น 14 ราย จาก 9 ราย มูลค่าการซื้อขาย เพิ่มขึ้นเป็น 4.8 พันล้านบาท จาก 240 ล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์ในธุรกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 1.14 แสนล้านบาท จาก 9.6 พันล้านบาท ขณะที่จำนวนบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านราย จาก 1.7 แสนราย ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และถือว่า สินทรัพย์ดิจิทัล คริปโทเคอร์เรนซี เป็นผู้เล่นรายใหม่ นอกจากการลงทุนในตลาดหุ้น
รมว.คลัง ระบุว่า ต้องยอมรับว่า สินทรัพย์ดิจิทัลมีประโยชน์ในเรื่องของการเป็นทางเลือกในการระดมทุน นอกเหนือจากตลาดหุ้น ซึ่งเชื่อว่า การระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีบทบาทอย่างมากในอนาคต แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไป คือ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งไทยยังขาดในเรื่องนี้ หากมีการพัฒนาในส่วนนี้อย่างจริงจังจะเป็นโอกาสสำคัญสำหรับเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ รวมไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ที่ปกติใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน ให้สามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลแทนได้
รวมถึงต้องมีการพัฒนาบุคคลากรด้านดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อรองรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต โดยเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นเรื่องที่ต้องก้าวไปด้วยกัน มีเรื่องอะไรที่ติดขัดต้องมาหารือร่วมกัน ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมที่จะพูดคุยและแก้ปัญหาให้ภาคดิจิทัลทั้งหมด