ธปท. เดินหน้าจัด "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้" ผนึกกำลังกว่า 60 สถาบันการเงิน พร้อมใจต่อยอดดูแลลูกหนี้ที่เปราะบาง เปิดโอกาสเจ้าหนี้-ลูกหนี้ เจรจาแก้หนี้บนข้อตกลงที่ผ่อนปรน สอดรับกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ระบุเตรียมจะออกแนวนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืน ชูหลักเกณฑ์ responsible lending ให้ปฏิบัติเป็นรูปธรรม ภายในปีนี้
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดแถลงข่าว "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" โดยมี
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ร่วมกับสมาคมธนาคารนานาชาติ และสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย รองประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมกว่า 60 แห่งที่ได้เข้าร่วมงานดังกล่าว
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่สะสมมานาน และถูกซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด เห็นได้จากปี 2553 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 60% ต่อ GDP ผ่านไป 10 ปี หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 80% ในปี 2562 และเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในไตรมาส 1 ปี 2564 จากโควิด และล่าสุด ไตรมาส 2 ปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ 88% ในช่วงโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้ตรงจุด รวดเร็ว และเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง โดยภาคการเงินเป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้
โดย ณ เดือนกรกฎาคม 2563 สถาบันการเงินได้ช่วยเหลือลูกหนี้สะสมสูงสุดที่ 12.5 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 7.2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นราว 40% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ ก่อนทยอยลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุด ณ เดือนมิถุนายน 2565 คงเหลือลูกหนี้ในความช่วยเหลือรวม 3.9 ล้านบัญชี ยอดหนี้เกือบ 3 ล้านล้านบาท หรือ 14% ของสินเชื่อรวม นอกจากนี้ ธปท. ได้ยกระดับการดูแลการให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรมเพิ่มเติม เช่น การคิดดอกเบี้ยผิดนัดบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริง และปรับลำดับการตัดชำระหนี้ เพื่อช่วยลดภาระหนี้ของประชาชนและลดโอกาสเกิดหนี้เสียในระบบ
มาวันนี้ แม้เศรษฐกิจไทยจะปรับดีขึ้นจากผลกระทบของโควิด และคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวในแต่ละภาคส่วนยังไม่เท่าเทียม (K-shaped) โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ยังเจอกับภาวะค่าครองชีพสูง ซึ่งอาจยิ่งซ้ำเติมลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง และทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงขึ้น จนอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ท่านผู้มีเกียรติครับ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด (smooth takeoff) การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก"
หนึ่ง ทำอย่างครบวงจร สอดคล้องกับลักษณะและสาเหตุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ โดยตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ ต้องสร้างวินัยทางการเงินให้ลูกหนี้ ขณะที่เจ้าหนี้ต้องปล่อยหนี้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้กู้ เช่น การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (responsible lending) ขณะเป็นหนี้ ต้องสร้างกลไกช่วยลูกหนี้ที่มีศักยภาพให้ชำระหนี้ได้เร็วขึ้น เพื่อไม่ให้หนี้พอกพูน เช่น กลไก risk-based pricing ที่จะช่วยให้ลูกหนี้ดีได้รับดอกเบี้ยลดลงเหมาะกับความเสี่ยงของตน รวมทั้งมีแนวทาง refinance หนี้ที่สะดวกขึ้นในต้นทุนที่เหมาะสม และเมื่อมีปัญหาชำระหนี้ ควรมีกลไกสนับสนุนการแก้หนี้ที่เป็นมาตรฐาน เพื่อช่วยให้ลูกหนี้หลุดจากวงจรหนี้ได้จริง เช่น การไกล่เกลี่ยหนี้นอกศาล การแก้หนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย
สอง ทำอย่างถูกหลักการ โดยพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม รู้ว่าอะไรควรทำ และไม่ควรทำ ซึ่งหลัก ๆ คือ (1) ต้องแก้หนี้ให้ตรงจุด สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้ ไม่ทำแบบวงกว้างเพราะภาคการเงินจะมีทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องการจริง ๆ ได้น้อยลง (2) ไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับลูกหนี้ในอนาคต เช่น พักชำระหนี้ไปเรื่อย ๆ จนลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น (3) ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ เช่น ลบหรือแก้ประวัติสินเชื่อของลูกหนี้ จนสถาบันการเงินไม่รู้จักลูกหนี้และไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ และ (4) เจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องร่วมมือและตั้งใจจริงในการแก้ไขหนี้ เช่น เจ้าหนี้ต้องช่วยเหลือให้เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ ลูกหนี้ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง เพื่อให้การแก้หนี้สำเร็จ ซึ่งการดำเนินการภายใต้หลักการเหล่านี้ ต้องใช้เวลา เพราะหนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน และเกิดจากหลายสาเหตุทั้งจากฝั่งเจ้าหนี้ และลูกหนี้ จึงไม่สามารถแก้ได้ด้วยมาตรการเดียว แต่ต้องอาศัยมาตรการที่หลากหลาย และดำเนินการอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ซึ่งการทำอะไรที่ดูดี หรือดูเร็ว อาจไม่ยั่งยืน
สาม บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเงินในฐานะเจ้าหนี้ ที่ต้องให้สินเชื่อใหม่โดยคำนึงถึงศักยภาพลูกหนี้ในการชำระหนี้มากขึ้น พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่ไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินตัว ภาครัฐ มีบทบาทในการสร้างรายได้และเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านข้อมูล ที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ภาคเอกชน ยกระดับบทบาทนายจ้างในการดูแลปัญหาหนี้ของลูกจ้าง และลูกหนี้ ต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ก่อหนี้โดยคำนึงถึงศักยภาพของตนเอง และมีวินัยในการชำระหนี้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินมาตรการแก้หนี้โดยยึดตามแนวทางข้างต้น และงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ในครั้งนี้ ก็เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่ ธปท. ทำมาอย่างต่อเนื่อง
"ท่านผู้มีเกียรติครับ ในวันนี้ ธปท. ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาคส่วนต่าง ๆ เห็นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยได้ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาชำระหนี้ ให้สามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งงานมหกรรมครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งก่อน เพราะมีเจ้าหนี้เข้าร่วมกว่า 60 ราย และครอบคลุมประเภทหนี้มากขึ้น ที่สำคัญ ยังเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้เจรจาแก้หนี้กับเจ้าหนี้บนข้อตกลงที่ผ่อนปรนและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งจะตรงกับความต้องการของลูกหนี้มากขึ้น "ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
ในระยะต่อไป ธปท. จะออกแนวนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืน (directional paper) ภายในปี 2565 เพื่อสื่อสารทิศทาง การดำเนินงานที่ ธปท. จะผลักดันในอนาคต และแนวทางการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้ได้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เช่น ออกหลักเกณฑ์ responsible lending ที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งครอบคลุมทั้งการปล่อยหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ และการให้ข้อมูลที่ลูกหนี้ควรรู้ เพื่อปรับพฤติกรรมให้เกิดวินัยทางการเงิน และลดการก่อหนี้เกินตัว