โครงการคนละครึ่ง และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้คะแนนระดับ “ดีมาก (A)” จากการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าโครงการคนละครึ่ง และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีผลการดำเนินงานในภาพรวมอยู่ในระดับ “ดีมาก (A)” ตามรายงานการประเมินผลโครงการหรือแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. เงินกู้ฯ) รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 1 โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะร่วมกับบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำการประเมินด้วยแบบจำลองทางสถิติประกอบกับเกณฑ์การประเมิน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านความสอดคล้องและความเชื่อมโยง ด้านประสิทธิภาพ ด้านประสิทธิผล ด้านผลกระทบ และด้านความยั่งยืน
ทั้งนี้ การประเมินผลดังกล่าวพบว่า โครงการคนละครึ่งและโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถดำเนินการได้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ และยังเป็นการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค รวมทั้งยังสร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและช่วยสร้างรายได้กลับคืนแก่รัฐ นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมสร้างทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสดเพื่อรองรับโลกในอนาคตอีกด้วย
สำหรับความคืบหน้าการใช้สิทธิมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ปี 2565 ระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 โฆษกกระทรวงการคลังเผยว่า จากข้อมูลสะสม ณ วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน 2565 เวลา 23.00 น. มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวม 37.30 ล้านคน และมียอดใช้จ่ายสะสมทั้งสิ้น 32,520.73 ล้านบาท โดยสรุปผลการใช้จ่ายได้ ดังนี้
1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 12.91 ล้านคน และมียอดใช้จ่าย 2,579.02 ล้านบาท
2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 983,401 คน และมียอดใช้จ่ายสะสม 196.26 ล้านบาท
3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 มีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนรายเดิมที่เคยใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 (ประชาชนรายเดิมฯ) จำนวน 23.24 ล้านคน คิดเป็นยอดใช้จ่ายสะสม 29,548.08 ล้านบาท และมีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนรายใหม่ที่ไม่เคยใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 (ประชาชนรายใหม่ฯ) จำนวน 158,417 คน คิดเป็นยอดใช้จ่ายสะสม 197.37 ล้านบาท รวมมีผู้ใช้สิทธิทั้งหมดจำนวน 23.40 ล้านคน และมียอดใช้จ่ายรวม 29,745.45 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายจำนวน 15,113.48 ล้านบาท และเงินที่รัฐร่วมจ่ายจำนวน 14,631.97 ล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับยอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทร้านค้า ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 12,287.01 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 6,064.77 ล้านบาท ร้าน OTOP 1,415.03 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 9,468.48 ล้านบาท ร้านบริการ 474.41 ล้านบาท และกิจการขนส่ง 35.75 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 มีผู้ประกอบการร้านค้าเข้าร่วมแล้วจำนวน 9.61 แสนราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ 2.21 หมื่นราย
ทั้งนี้ การใช้จ่ายผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยอดใช้จ่ายสะสมของร้านอาหารและเครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 มียอดใช้จ่ายสะสม 1,017.31 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 526.30 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 491.01 ล้านบาท โดยใช้จ่ายกับผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ที่ขายอาหารและเครื่องดื่มผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม จำนวน 8.01 หมื่นราย
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ยังคงมีสิทธิคงเหลือที่ประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม 2565 ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังหรือ www.คนละครึ่ง.com ระหว่างเวลา 06.00 น. – 22.00 น. โดยประชาชนที่เคยได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ไปก่อนหน้านี้แต่ไม่ได้ใช้จ่ายครั้งแรกภายในระยะเวลาที่กำหนด สามารถลงทะเบียนรอบสิทธิคงเหลือดังกล่าวได้เช่นกัน