Economies

ธปท. ชี้ Q2 แบงก์ มีกำไรดีตามดอกเบี้ยขาขึ้น สินเชื่อหด NPL 2.67 % จับตาความเสี่ยงลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง `SME-รายย่อย` 
22 ส.ค. 2566

ธปท. ชี้ไตรมาส 2 แบงก์พาณิชย์มีเสถียรภาพ-มั่นคง  กำไรเพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยตามทิศทาง ดบ.ขาขึ้น  สินเชื่อหดตัว   NPL 2.67 %  พร้อมติดตามความเสี่ยงความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ทั้งเอสเอ็มอี และรายย่อย ภ  ปัญหาภาคส่งออกชะลอตัวตามศก.โลก ส่วนท่องเที่ยวฟื้นตัวดี ธปท. ชูเร่งออกมาตรการปรับพฤติกรรมเจ้าหนี้และลูกหนี้ ทั้งการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ แก้หนี้เรื้อรังอย่างยั่งยืน คาดเริ่มใช้ปี 2567

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน และนางสาวอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน  ธปท. ร่วมกันแถลงสรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2/2566  ดังนี้

 

ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2566 หดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจหลังเร่งขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด โดยเฉพาะการชำระคืนสินเชื่อ SMEs (รวม soft loan) และภาครัฐ   ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ประกอบกับมีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์  อย่างไรก็ดี สินเชื่อยังขยายตัวได้จากธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่ม holding รวมถึงสินเชื่อรายย่อย พอร์ตที่อยู่อาศัยและพอร์ตส่วนบุคคลเป็นสำคัญ

 

"สินเชื่อระบบ ธพ. ไตรมาส 2 ปี 66 ขยายตัวติดลบเป็นครั้งแรกหลังจากวิกฤตโควิดที่ผ่านมา โดยในช่วงโควิดมีการเร่งปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์  ซึ่งผลสำคัญมาจากการชำระคืนหนี้เดิมของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจSME และ ภาครัฐ โดยเฉพาะสินเชื่อตาม พ.ร.ก. soft loan ที่ทยอยครบกำหนดตั้งแต่เม.ย. 65-เม.ย.66 ที่ผ่านมา อีกส่วนหนึ่งเป็นการโอน port สินเชื่อไปยังบริษัทลูกในกลุ่มตามแผนการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง หากบวกกลับส่วนที่โอนออก สินเชื่อระบบ ธพ. ยังขยายตัว 0.4% อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อใหม่ยังปรับเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ" นางสาวสุวรรณี กล่าว

 

 

 

ด้านคุณภาพสินเชื่อด้อยลงเล็กน้อยในสินเชื่อ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยธนาคารพาณิชย์บริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 2 ปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 492.3 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.67 ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ร้อยละ 6.08 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 6.00

 

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2566 ปรับดีขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝากและ FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ รวมถึงค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้น จากรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเป็นสำคัญ

 

"อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า  โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 1 ปี 2566 ลดลงเล็กน้อยตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ปรับลดลงต่อเนื่อง และความสามารถในการทำกำไรปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากภาคการผลิต โดยต้องติดตามความเสี่ยงจากภาคการส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ภาคการท่องเที่ยวที่ต้องมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และ ภาคก่อสร้างที่ต้องติดตามนโยบายของภาครัฐ"

 

ทั้งนี้ สถาบันการเงินยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง แม้มาตรการแก้หนี้ระยะยาวในช่วงโควิดจะสิ้นสุดในสิ้นปี 2566 ลูกหนี้ที่มีปัญหายังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนที่สิ้นสุดเป็นเรื่องการผ่อนปรนหลักเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินเท่านั้น 

 

นอกจากนี้ ธปท. จะเร่งออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำอย่างครบวงจรและถูกหลักการ ไม่เพิ่มภาระลูกหนี้ในระยะยาว โดยมาตรการที่จะบังคับใช้ในปี 2567 คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ที่รวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt) ตลอดจนมาตรการอื่น ๆ ที่ธปท.  จะดำเนินการในระยะต่อไป ทั้งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) ซึ่งทั้ง 3 มาตรการจะช่วยเสริมกันในการปรับพฤติกรรมของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยให้ลดลงสู่ระดับที่ยั่งยืน  ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com