Krungthai Global Market คาดเงินบาทแกว่งตัว sideways จับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 37.50-38.30 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และท่าทีของรัฐบาลอังกฤต่อการปรับแผนงบประมาณใหม่
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.83 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 37.85 บาทต่อดอลลาร์
คุณพูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโดยรวมอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและความผันผวนสูงของตลาดพันธบัตรรัฐบาล
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) นอกจากนี้ ท่าทีของรัฐบาลอังกฤต่อการปรับแผนงบประมาณใหม่ จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะ ข้อมูลตลาดแรงงาน ซึ่งตลาดประเมินว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาจยังคงอยู่ในภาวะตึงตัวต่อเนื่อง โดยยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) อาจสูงกว่า 11 ล้านตำแหน่ง หรือเกือบ 2 เท่าของจำนวนผู้ว่างงาน นอกจากนี้ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกันยายน อาจสูงกว่า 2.6 แสนราย ทำให้อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ระดับ 3.7% ส่วนการเติบโตของรายได้ (Average Hourly Earnings) อาจสูงราว 5.1%y/y สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและจะหนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตาม Dot Plot ล่าสุดของเฟด
ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย หลังในสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมามาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ อย่างไรก็ดี เราเริ่มเห็นเจ้าหน้าเฟดบางส่วนแสดงความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้มีโอกาสที่เฟดอาจไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปมากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด หากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงชัดเจนมากขึ้น พร้อมกับการปรับตัวลดลงของเงินเฟ้อ
ฝั่งยุโรป – ตลาดมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปยังคงไม่สดใสนัก โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยูโรโซน ในเดือนสิงหาคม อาจหดตัว -0.4% จากเดือนก่อนหน้า กดดันโดยภาวะเงินเฟ้อสูงที่ส่งผลให้ค่าครองชีพเร่งตัวสูงขึ้น รวมถึงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโดยรวม อนึ่ง ประเด็นที่ตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ท่าทีของรัฐบาลอังกฤษต่อแผนงบประมาณใหม่ โดยหากรัฐบาลอังกฤษยังคงยืนกรานใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนลดภาษีตามเดิม (หรืออาจปรับลดวงเงินเล็กน้อย) อาจทำให้ตลาดการเงินยังคงกังวลปัญหาการคลังของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษผันผวนอีกครั้งได้ โดยบอนด์ยีลด์อาจปรับตัวสูงขึ้น ตามแรงขายพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวอังกฤษและส่งผลให้เงินปอนด์ (GBP) อ่อนค่าลง
ทั้งนี้ เราเชื่อว่า ในสถานการณ์ดังกล่าว ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ก็พร้อมเข้ามาช่วยดูแลเสถียรภาพของตลาดการเงิน ผ่านการซื้อพันธบัตรระยะยาวชั่วคราว ซึ่งอาจช่วยลดทอนความรุนแรงของผลกระทบได้ชั่วคราว จนกว่าตลาดจะคลายกังวลปัญหาการดำเนินนโยบายการคลังและกลับมามีความเชื่อมั่นในรัฐบาลอังกฤษ
ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า บรรดาผู้ประกอบการในญี่ปุ่นอาจเริ่มมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะในภาคการบริการ หลังรัฐบาลเตรียมเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Tankan Survey) ในไตรมาส 3 สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กนอกภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 14 จุด และ -2 จุด ตามลำดับ ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 2.85% เพื่อคุมเงินเฟ้อ (ล่าสุดสูงถึง 6.1%) และลดแรงกดดันต่อค่าเงิน AUD เช่นเดียวกันกับ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 3.50% หลังเงินเฟ้อพุ่งขึ้นต่อเนื่องแตะระดับ 7.3%
ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจขยายตัวในอัตราชะลอลงเล็กน้อยในเดือนกันยายน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจลดลงสู่ระดับ 53.4 จุด ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าที่กระทบความต้องการสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศจากแรงส่งของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน จะช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกันยายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50 จุด และ 44 จุด ตามลำดับ อนึ่ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจถูกกดดันจากภาวะเงินเฟ้อสูงได้บ้าง ท่ามกลางการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าและบริการ รวมถึงค่าไฟฟ้า ซึ่งเราประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนกันยายนจะยังคงอยู่ในระดับสูงราว 7.2% แต่มีแนวโน้มเริ่มชะลอตัวลง
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว sideways โดย ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หากแรงขายสินทรัพย์ไทยเริ่มลดลงก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ ในระยะสั้นนี้ แนวต้านเงินบาทจะอยู่ในช่วง 38.20-38.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าระดับดังกล่าวอาจเห็นผู้ส่งออกทยอยขายเงินดอลลาร์ รวมถึงผู้เล่นต่างชาติบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USDTHB ส่วนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 37.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่า ผู้นำเข้าอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น ในการซื้อเงินดอลลาร์
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า โมเมนตัมของเงินดอลลาร์อาจเริ่มลดลงบ้าง และเงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลง ท่ามกลางกระแสการเข้าแทรกแซงค่าเงินของหลายประเทศ ทว่า เงินดอลลาร์พร้อมกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากรัฐบาลอังกฤษยังยืนกรานใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาษีตามเดิม ซึ่งอาจกดดันให้เงินปอนด์ (GBP) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งได้
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 37.50-38.30 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.70-37.95 บาท/ดอลลาร์