บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จัดงานสัมมนา The Way Ahead in the Perfect Storm จับจังหวะลงทุนไปกับหุ้น Global Quality Growth ร่วมกับ Wellington เพื่ออัพเดตมุมมองการลงทุนในหุ้นโลก เพื่อหาว่าจังหวะใดควรเข้าลงทุน โอกาสอยู่ตรงไหน และสไตล์การลงทุนแบบไหนที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน
โดยในงานได้รับเกียรติจาก Jeremy H. Butterworth, CFA Vice President and Portfolio Advisor จาก Wellington Management มาร่วมพูดคุยแบบเจาะลึกกับคุณอิก บรรพต ธนาเพิ่มสุข
ซึ่ง Jeremy ได้เริ่มต้นถึงปัจจัยต่างๆที่ทำให้สถานการณ์ลงทุนปัจจุบันค่อนข้างมีความท้าทายโดยปัจจัยที่สำคัญและเห็นได้ชัด คือ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก เพราะหากมองดีๆ เราไม่ได้เห็นเงินเฟ้อมานานมาก และเงินเฟ้อนี้ก็เพิ่งจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเท่านั้น แต่กลับมีอัตราเร่งที่ค่อนข้างสูงจนสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย ทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศปรับเปลี่ยนนโยบาย จากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เป็น มาตรการดึงสภาพคล่องออกจากระบบ (QT) และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศ แต่อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัว Jeremy เชื่อว่าตอนนี้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐอเมริกาใกล้เข้าสู่ระดับสูงสุดแล้ว จากที่สัญญาณหลายตัว ได้แก่
ปัญหาเรื่อง supply chain ขาดแคลน เริ่มคลี่คลายและผ่อนคลายลง เห็นได้จาก สินค้าที่เคยขาดตลาดช่วงโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น เกม play station หรือ รถยนต์ เริ่มกลับมามีสินค้าออกขายมากขึ้น
วิกฤตพลังงานมีความซับซ้อนและไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันทั่วโลก อย่าง ราคาแก๊ส ในสหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกาก็มีการปรับขึ้นที่ไม่เท่ากัน จะสังเกตว่าในยุโรปราคาปรับพุ่งขึ้นมาก ต่างกับในสหรัฐอเมริกาอย่างค่อนข้างมีนัยยะ ซึ่งมีข้อที่น่าสนใจสำหรับปัจจัยนี้ เพราะการปรับราคาขึ้นที่ไม่เท่ากันนี้ ทำให้เกิดภาวะที่บางบริษัทได้ประโยชน์ บางบริษัทเสียประโยชน์ ดังนั้นหากเป็นนโยบายลงทุนทั่วโลก จะทำให้ผู้จัดการกองทุนสามารถเลือกลงทุนในบริษัทที่มีแนวโน้มได้ประโยชน์ได้ ประกอบกับโดยส่วนตัวก็เชื่อว่ายุโรปน่าจะผ่านพ้นวิกฤตพลังงานช่วงหน้าหนาวนี้ไปได้ อัตราการว่างงานที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ และค่าแรงปรับตัวสูง ทำให้มีหลายฝ่ายกังวลว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวเร่งขึ้นจากสถานการณ์นี้
แต่ Jeremy ชี้ให้เห็นอีกมุมหนึ่งว่า จากนี้เราจะเห็นหลายบริษัทมีการปรับโครงสร้างมากขึ้น ที่เห็นได้ชัด คือ บริษัทเทคโนโนยีเริ่มปรับลดพนักงานลง ไม่ว่าจะสาเหตุจากการลดต้นทุนหรือเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น แต่ก็เชื่อว่าปัจจัยนี้น่าจะช่วยปรับสมดุลอัตราการว่างงานได้เช่นกัน
Jeremy กล่าวต่อไปว่า จริงๆแล้วในช่วงเวลาที่ท้าทาย นับเป็นโอกาสทองของการบริหารแบบ active management เพราะจะทำให้สามารถเลือกลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพดีแต่ราคาถูกได้ ประกอบกับGlobal cycle index ของ wellington เอง ก็มีสัญญาณบอกว่า ราคาหุ้นที่มีการปรับฐานไปในปีนี้ ปัจจุบันเริ่มดีดตัวกลับมาได้
นอกนั้นสำหรับ wellington global quality growth แม้ว่า ปีนี้อาจจะ underperform เนื่องจากในปีนี้หุ้น value ทำผลงานได้ดีกว่าหุ้นในกลุ่มเติบโต แต่หากพิจารณาในพอร์ตจะพบว่ายังมีกลุ่มหลายที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ทำซอฟแวร์ให้กับสถาบันการเงิน ออนไลน์โบรคเกอร์ หรือแม้แต่เฮลธแคร์ โดย Jeremy เองก็เชื่อว่าฝั่งเติบโตกำลังจะกลับมา
โดยในช่วงหนึ่งของงานสัมมนา เจเรมี่ได้กล่าวถึง สถานการณ์ของบริษัทเทคโนโลยีที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าต้องพิจารณาแล้วรายบริษัทเพราะต่างมีปัจจัยเฉพาะ business model ค่อนข้างมีความต่างกันมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือบริษัทเทคโนโลยีมีการลงทุนมหาศาลในช่วงนี้ อย่าง Facebook ก็มีการลงทุนใน Metaverse ในจำนวนที่สูงมากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์แล้ว และจะเห็นว่า Instagram ก็เริ่มที่จะให้ความสำคัญกับวิดีโอขนาดสั้นๆอย่าง reel เพื่อให้สามารถแข่งขันกับ TikTok ได้ ซึ่งก็คงต้องมาพิจารณาว่าเม็ดเงินลงทุนที่เสียไปนั้นคุ้มค่ากับยอดผู้ใช้หรือไม่ อย่างไร นับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายนักวิเคราะห์อยู่พอสมควร
แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีอย่างบริษัท google ในภาพรวม แม้ว่าอัตราการค้นหาหรือยอดการขายโฆษณาบน YouTube จะปรับลดลง แต่เมื่อดูในอีกฝั่งธุรกิจ นั่นก็คือ ธุรกิจคราวด์นั้นกลับยังคงน่าสนใจเพราะยังคงทำกำไรได้เกือบ 15% ดังนั้นเชื่อว่าการคัดเลือกลงทุนจึงเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ดีที่สุด
นอกจากนั้น คุณปณิธาน ศรีอินทร์ ฝ่ายกลยุทธ์กองทุนต่างประเทศ บลจ.อีสท์สปริง ยังกล่าวเสริมว่า ปัจจุบันกองทุนหลักของ TMBGQG อย่าง wellington global quality growth นั้น หากดู top10 จะพบว่าไม่มีการลงทุนใน Facebook ทำให้ได้รับกระทบจากการปรับลดลงค่อนข้างน้อย และในส่วนของ top5 ก็มีการลงทุนใน google และ amazon ซึ่งมีอนาคตที่ค่อนข้างสดใส
โดยคุณปณิธานยังกล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันถือเป็นจังหวะที่ดีที่จะทยอยเข้าสะสม เนื่องจากหากดู P/Eต้นปีก่อนที่จะมีปัญหาสงครามรัสเซียยูเครน นั้นอยู่ที่ 17 เท่า แต่ปัจจุบันพบว่า P/E อยู่ 14 เท่านั้น นับว่าเป็นระดับราคาที่น่าสนใจ และเมื่อเทียบกับ EPS Growth ที่ปัจจุบันที่อยู่ที่ประมาณ 16.7 เท่า ก็ถือว่าดีโดยเปรียบเทียบ ประกอบกับการบริหารกองทุนของ wellington ที่ค่อนข้างเป็นระบบจึงชื่อว่ากองทุนนี้จะสามารถมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้
สำหรับการลงทุนต่อจากนี้ คุณบดินทร์ พุทธ์อินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง ได้เสริมว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ หุ้นโลกปรับฐานลงไปประมาณ 20% ซึ่งในปีนี้มีปัจจัยที่ถือเป็น Black Swan หลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นประเด็นยูเครน-รัสเซีย ,การล๊อคดาวน์จากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในจีน,เงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก แต่หากวิเคราะห์ถึงปัจจัยหลักที่กระทบต่อการลงทุนในปีคงเป็นเรื่องของเงินเฟ้อ และการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก รวมถึงผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นและกระทบไปยังการปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนลดลง
คำถามถัดมาคือ ประเด็นเรื่องของเงินเฟ้อจะกดดันต่อไปอีกนานแค่ไหน ในมุมมองของทาง บลจ.อีสท์สปริง เราประเมินว่าเงินเฟ้อจะถึงจุดสูงสุดในปีนี้ แต่จะยังคงอยู่ในระดับสูง และลดลงอย่างช้าๆในปีหน้า ซึ่งอาจทำให้เฟดดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวต่อไปอีกประมาณ 3-6 เดือน แต่อย่างไรก็ตามเราประเมินว่าในช่วงปลายปีนี้จนถึงปีหน้า เฟดอาจจะใช้นโยบายตึงตัวน้อยกว่าในช่วงที่ผ่านมาของปี ซึ่งเป็นผลจากเงินเฟ้อรายเดือนที่เริ่มทรงตัวมากขึ้น
ในมิติการลงทุน ความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่ การเก็งกำไรระยะสั้นหรือเลือกลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง/ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งอาจมีความเสี่ยงสูง แนะนำลงทุนหุ้นโลกเป็น Core Port ระยะยาวเพื่อกระจายความเสี่ยงไปยังหลากหลายภูมิภาค และหากวิเคราะห์ถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงของหุ้นโลก ถือว่าเริ่มน่าสนใจเพราะหากประเมินการทั้งระดับดัชนี และ P/E ที่ลงมาในระดับที่น่าสนใจ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี เกือบ 1SD การเติบโตของกำไรในปีนี้ยังทำได้ดี
อย่างไรก็ตามท่ามกลางความไม่แน่นอน อาจต้องเลือกลงทุนกองทุนหุ้นโลกที่มีนโยบายลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพ ยอดขายและกำไรเติบโตต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีกระแสเงินสดของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้เพื่อรองรับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งกองทุนเปิด TMBGQG เป็นอีกหนึ่งกองทุนที่มีคุณสมบัติดังที่กล่าวมา รวมถึงกองทุนยังมีการใช้ปัจจัยการวิเคราะห์แบบ Top-Down และ Bottom-Up ในการเลือกหุ้นที่ให้เข้าสภาวะตลาด ซึ่งเป็นการปรับพอร์ตจากปัจจัยมหภาค และเลือกหุ้นที่มีคุณภาพเข้ามาอยู่ในพอร์ตการลงทุนเพื่อเป้าหมายที่จะเอาชนะ MSCI World ในระยะยาว