กนง.ส่งซิก 'ขึ้นดอกเบี้ย' 2.50% เหมาะสมกับเศรษฐกิจระยะยาว ชี้ปีหน้า ศก. โตกว่า 4% ได้แรงส่งจากมาตรการฯของภาคการคล้ง โดยเงินดิจิทัลช่วยหมุนรอบการใช้จ่าย และต่างประเทศก็ได้อานิสงส์เศรษฐกิจโลกโตดีกว่าปีนี้ ส่วนความเสี่ยงคงมีความไม่แน่นอนสูง
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากมติ กนง. ล่าสุด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีก 0.25% สู่ระดับ 2.50% เชื่อว่า ดอกเบี้ยระดับปัจจุบันมีความเหมาะสม และสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจระดับศักยภาพในระยะยาว
กนง. มองในระยะสั้น ยังต้องคำนึง 3 ปัจจัย คือ 1. ต้องแน่ใจว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ในระดับศักยภาพ 2. เงินเฟ้อได้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และ 3. ระบบการเงินโดยรวมยังทำงานได้ดี คือไม่มีปัญหา
"ภาพรวมเศรษฐกิจในระยะสั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลง ขณะที่ความไม่แน่นอนยังมีค่อนข้างมาก ทั้งเศรษฐกิจต่างประเทศที่ชะลอตัว จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่แน่นอน และมาตรการภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจน"
สำหรับการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 เพิ่มเป็น 4.4% จากคาดการณ์เดิม 3.8% เนื่องจากได้มีการรวมผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคการคลัง โดยเฉพาะผลจากมาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต วงเงินรวม 5.6 แสนล้านบาทไว้แล้ว ซึ่งจะเป็นปีที่ภาคการคลังมีบทบาทค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีมาตรการดังกล่าวแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าก็ยังสามารถฟื้นตัวได้ดีกว่าปีนี้ เนื่องจากมองว่า เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ จะกลับมาฟื้นตัวได้เต็มสูบ ด้วยแรงส่งของภาคอุปสงค์ในประเทศที่ต่อเนื่อง และเศรษฐกิจในต่างประเทศที่กลับมาขยายตัว
สำหรับผลของมาตรการแจกดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทต่อคน ในเบื้องต้นประเมินแบบ กว้างๆคาดว่าจะส่งผลให้เกิดการหมุนรอบเศรษฐกิจ 0.3 เท่า-0.6 เท่า แต่จะมากหรือน้อย ยังต้องรอดูรายละเอียดของมาตรการที่จะออกมา ทั้งเรื่องแหล่งเงิน รูปแบบการใช้เงินดิจิทัล ระยะเวลาของมาตรการฯนี้ และผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ก็คาดว่า เม็ดเงินกว่า 5 แสนล้านบาท จะส่งผลต่อเศรษฐกิจเติบโตไม่ต่ำกว่า 4%
สำหรับความกังวลต่อปัญหาวินัยการคลัง หากต้องใช้เงินอกี 5 แสนล้านบาทดำเนินมาตรการเงินดิจิทัลวอลเล็ต และจะทำให้กระทบต่อเครดิตเรทติ้งส์ของประเทศไทยนั้น นายปิติ กล่าวว่า เรื่องนี้จะขึ้นอยู่กับการจัดหาแหล่งเงินทุน แต่ยังมั่นใจว่า รัฐบาลจะหาทางออกที่ดีที่สุดในการจัดหาแหล่งเงิน และเชื่อว่าในระยะยาว ภาคการคลังของประเทศไทยยังมีเสถียรภาพเพียงพอ เมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่ โดยปัจจุบัน สัดส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก และถ้าเศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพ การก่อหนี้การใช้คืนหนี้ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ และไม่น่าจะกระทบต่อเครดิตเรทติ้งของไทย ตอนนี้ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป