"ทำไม ธปท. ห่วงการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการ" เป็นประเด็นที่นักเล่นสายคริปโตเคอเรนซี คาใจกันมากมาย แล้วเหรียญคริปโตต่างๆที่อยู่ในตลาด ถือว่า “ผิดกฎหมาย” หรือไม่? และที่ผ่านมาได้มีการนำไปใช้ชำระสินค้ากันมากน้อยแค่ไหน มาฟังคำตอบของแบงก์ชาติกันว่ายอมรับได้หรือไม่ได้ แล้วุ้นที่เกี่ยวข้องกับเหรียญคริปโตจะเดินหน้าต่อได้หรือไม่
วันนี้ (7 ธ.ค. 2564) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาแถลงไขความคิดดังๆ ส่งถึงผู้เล่นทุกฝ่ายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและประชาชน นำทีมโดย นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค และนายกษิดิศ ตันสงวน รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธปท ดังนี้
1 ธปท. ชี้ลักษณะของคำว่า “ชำระค่าสินค้าและบริการ” หรือ Means of Payment ที่ดีต้องมี 3 ข้อ ได้แก่ ประชาชนทั่วไปต้องเข้าถึง (Ubiquity) , สามารถคงมูลค่าได้ (Store of value) , ปลอดภัยและได้รับการยอมรับจากผู้ใช้และผู้รับ (Trust)
2 สินทรัพย์ดิจิทัลมีหลายรูปแบบ ขึ้นกับผู้นำออกใช้และสินทรัพย์หนุนหลัง หลัก ๆ มี 2 กลุ่ม คือ
- Central Bank Digital Currency (CBDC) ที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งมีบทบาทดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงิน
- Private Digital Currency ออกโดยเอกชน ซึ่งแยก 2 ประเภท ได้แก่
ประเภทแรก Stablecoin มีสินทรัพย์หนุนหลังหรือมีกลไกรักษามูลค่า จะเป็นพวก Fiat-Backed (มีเงินตราหนุนหลัง) ,Asset-Backed (สินทรัพย์อื่นหนุนหลัง) และ Algorthmic (ใช้กลไก Smart Contact รักษามูลค่า ) ทั้ง 3 พวกนี้จะมีเงินบาท เงินสกุลต่างๆ ภาพเขียน ที่เป็นตัวหนุนหลังที่มีมูลค่า
อีกประเภท Blankcoin ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง เช่น Bitcoin Ether ฯลฯ ตัวนี้คือสิ่งที่แบงก์ชาติเป็นห่วงกังวลมาก เพราะเห็นโมเมนตัมจะมีนำมาใช้ชำระสินค้าและบริการอย่างแพร่หลาย ในอนาคตได้ ตัวมูลค่าของ Blank Coin ขึ้นกับ Demand (ปริมาณความต้องการ)ของผู้เล่น – Supply (ปริมาณเหรียญที่ออก) ของผู้ออกเหรียญ เท่านั้น ไม่มีสินทรัพย์อะไรหนุนหลัง จึงมีความเสี่ยงทำให้ราคาเหวี่ยงขึ้นลงมาก พร้อมยกตัวอย่าง เหรียญคริปโตฯ มีความผันผวนสูง เช่น Bitcoin ขึ้นหรือลงได้ถึง 68%ของมูลค่า
3 ธปท.ชี้ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ที่เป็น CBDC มีลักษณะไม่ครบ 3 ข้อ ของคำว่า “ Means of Payment ที่ดี ” คือ ประชาชนทั่วไปยังเข้าไม่ถึง แต่ยังมีลักษณะ “สามารถคงมูลค่า”ได้ และปลอดภัย ได้รับการยอมรับจากผู้ใช้และผู้รับ ส่วน Blankcoin ไม่เข้าลักษณะการใช้ชำระสินค้าและบริการทั้ง 3 ข้อได้เลย ทั้งนี้ มูลค่า จะขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือ กลไกเพื่อให้คงมูลค่า และขึ้นกับการยอมรับใช้เป็นสื่อกลาง
4 ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ ได้แก่ ผู้บริโภคผู้ใช้เหรียญคริปโตฯต่างๆ ต้องเจอทั้งความผันผวนของราคา ความไม่ปลอดภัยของระบบซื้อขายผ่าน Public network (ผู้ให้บริการระบบเป็นตัวกลาง) จึงมีความเสี่ยงเกิดภัยไซเบอร์ ถูกแฮกข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะไม่สามารถติดตามตรวจสอบความเสียหายได้เหมือนระบบสถาบันการเงิน นอกจากนี้ มีความเสี่ยงอาจเป็นช่องทางฟอกเงิน
5 มีการใช้แพร่หลายในระยะข้างหน้า ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงิน และเสถียรภาพด้านการเงิน เนื่องจากมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาใช้ชำระสินค้าและบริการ ขึ้นกับการเคลื่อนไหวที่ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง แตกต่างกับเงินที่มีกฎหมาย ธปท. กำหนด ทำให้ยังรักษาค่าของเงินได้ พร้อมรองรับการดำเนินนโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ย การดูแลสภาพคล่องทั้งระบบ ปริมาณเงินในระบบให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาได้ รวมถึงดูแลอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ
6 การใช้เงินสกุลที่ธนาคารกลางไม่สามารถควบคุมได้ เรียกว่า dollarization เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นในเงินสกุลท้องถิ่นของตนเอง จะส่งผลเสียต่อบทบาทของธนาคารกลางที่มีหน้าที่หลักดูแลเถียรภาพเศรษฐกิจ ผ่านการดำเนินนโยบายการเงิน นั่นคือ เมื่อธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินใดๆออกมา ก็จะ “ไม่สามารถ” ดูแลภาวะการเงินในประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้นได้
7 เมื่อเกิดวิกฤต ธปท.จะไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ให้กู้ยืมแหล่งสุดท้าย (lender of last resort)ได้ เพราะ Blank coin ไม่ได้มีสินทรัพย์หนุนหลัง ที่จะใช้ตีมูลค่าของเงินได้ ซึ่งจะต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ธปท. สามารถดูแลกรณีสถาบันการเงินขาดสภาพคล่อง จะปล่อยเงินกู้ยืมเสริมสภาพคล่องให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้น
8 ธปท.มีมุมมองสอดคล้องกับหลายประเทศที่ไม่สนับสนุนให้ใช้สินทรัพย์ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งปัจจุบันมีประเทศอินโดนีเซีย ที่มีการห้ามใช้เหรียญคริปโตฯในการชำระค่าสินค้าบริการ
9 สิ่งที่ทางการทำได้ คือ ธปท. ร่วมกับ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังพิจารณารูปแบบกำกับดูแลการนำมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อจำกัดความเสี่ยง โดยจะต้องใช้เวลาในการออกมาตรการ อาจจะอนุญาตให้ทำได้บางส่วนที่เห็นว่าไม่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและความน่าเชื่อถือต่อเงินบาท ส่วนในเรื่องการนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ธปท. ยังให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบการชำระเงิน
10 กรณีธนาคารไทยพาณิชย์(SCB)ให้บริษัทลูกเข้าไปลงทุนในบริษัท บิทคับ จะสร้างความเสี่ยงต่อแบงก์แม่หรือไม่ ขณะนี้ธปท. มีการหารือกันอยู่กับทางฝั่งแบงก์แม่ SCB
สำหรับการนำเหรียญคริปโต ใช้ในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ "ไม่ได้ผิดกฎหมาย" ซึ่งคิดว่ายังไม่ได้มีการนำมาใช้ในวงกว้าง เพราะส่วนใหญ่ใช้เป็นสินทรัพย์สำหรับการลงทุน มากกว่า