ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ 36.73 บาท/ดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย" Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบวันนี้ คาดจะอยู่ที่ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้นรายงานดัชนี PMIs เดือนมิ.ย.ประเทศเศรษฐกิจหลัก สหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.73 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย" จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.77 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.69-36.78 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้ว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังตลาดมองว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) แม้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25% ตามคาด แต่ BOE ก็มีการส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มคาดว่า BOE อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับไม่ได้อ่อนค่าไปมาก ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำที่ช่วยพยุงเงินบาทเอาไว้ หลังราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นราว +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางความหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งฝั่งตะวันออกกลางและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมเคลื่อนไหวผสมผสาน ท่ามกลางแรงขายทำกำไรบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor อย่าง Nvidia -3.5%, Apple -2.2% ทว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Exxon Mobil +2.2% หลังราคาน้ำมันดิบได้ทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงนี้ ทำให้โดยรวม แม้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq จะปรับตัวลง -0.79% แต่ดัชนี S&P500 ก็ปิดตลาดเพียง -0.25%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.93% หนุนโดยความหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะ BOE ที่เริ่มมีการส่งสัญญาณอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor อาทิ ASML +2.3% หลังทาง Morgan Stanley ได้มีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในหุ้น ASM International +5.3%
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 4.26% โดยเรายังคงเห็นแรงซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นของผู้เล่นในตลาดอยู่ หลังผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ในช่วงนี้ออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจผันผวนในกรอบ sideways และสามารถที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งของเฟดในปีนี้ ทว่าเราคงคำแนะนำเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง” มากกว่าที่เฟดจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มคาดหวังว่า BOE อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุน ตามการทยอยอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดได้อ่อนค่าใกล้ระดับ 159 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 105.6 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.3-105.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น ทว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ก็สามารถปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 2,380 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์จากทั้งปัญหาตะวันออกกลางและสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กลับมาร้อนแรงขึ้น รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดหวังการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก ซึ่งการปรับตัวขึ้นดังกล่าวของราคาทองคำ ก็เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนมิถุนายนของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น
ส่วนในฝั่งอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนพฤษภาคม
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลงได้ หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก อย่างไรก็ดี โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ก็อาจชะลอลงได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการนั้นออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ ซึ่งในช่วงคืนที่ผ่านมาการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ได้ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้ หากมีปัจจัยเข้ามากดดันราคาทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง เราคาดว่าเงินบาทก็อาจผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (Buy on Dip) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มราคาทองคำ เช่น มีเป้าราคาทองคำ (XAUUSD) ในโซน 2,400-2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า เงินบาทก็อาจผันผวนไปตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่อาจยังคงทยอยขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องได้ในช่วงนี้ จนกว่านักลงทุนต่างชาติจะมีความเชื่อมั่นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น หรือ ความเสี่ยงการเมืองไทยลดลงชัดเจน ถึงจะเริ่มเห็นการทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติอีกครั้ง
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ เพราะหากออกมาสูงกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความหวังที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ หนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้ไม่ยาก
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์