Krungthai GLOBALMARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดอยู่ที่ 34.00-34.30 บาท/ดอลลาร์ รอติดตามรายงานเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBALMARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.16 บาทต่อดอลลาร์ "ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง" จากระดับปิดวันก่อนหน้า
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกครั้ง นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Semiconductor/Chip หลังบริษัท Micron Technology ได้ประกาศคาดการณ์รายได้และผลกำไรที่ดีกว่าที่คาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่ออุตสาหกรรม Semiconductor ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจได้อานิสงส์จากกระแสการใช้งาน AI นอกจากนี้ ความกังวลปัญหาระบบธนาคารสหรัฐฯ และยุโรปที่คลี่คลายลง ยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 พุ่งขึ้น +1.42%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.30% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Semiconductor/Chip เช่นเดียวกันกับฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ASML +3.1% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรป ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร (UBS +3.7%) ตามความกังวลปัญหาระบบธนาคารยุโรปที่ทยอยลดลง
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก (โดยรวมเงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหว sideways) โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 102.6 จุด ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอย่างอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 4 รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานในวันนี้ และ อัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ทั้งนี้ เรามองว่า หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาดและอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจน เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่จะเริ่มเชื่อว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยลงหรือเฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านใกล้ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 1,981 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญฝั่งสหรัฐฯ อาทิ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 รวมถึงข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด, ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็จะอยู่ในความสนใจของผู้เล่นในตลาดเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ค่าเงินบาทเคลื่อนไหว sideways หลังจากปรับตัวแข็งค่าขึ้นในวันก่อนตามแนวโน้มธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ โดยในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีจังหวะผันผวนแข็งค่าขึ้นบ้างตามการรีบาวด์ของราคาทองคำ ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการย่อตัวลงของราคาทองคำ
ส่วนในวันนี้ เรามองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways ในช่วง 34.00-34.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยอาจมีจังหวะแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดี แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารแห่งประเทศไทยอาจทำให้ผู้เล่นต้างชาติบางส่วนทยอยขายทำกำไรบอนด์ไทยได้ (อาจเห็นยอดขายบอนด์สุทธิได้ในระยะสั้น) ขณะที่ปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่า อาจมาจากทิศทางเงินดอลลาร์และราคาทองคำ โดยเงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ (ส่วนราคาทองคำอาจย่อตัวลงต่อ) หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง
ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.30 บาท/ดอลลาร์