Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.35-36.65 บาท/ดอลลาร์ ยังคงติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส และะรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.54 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.75 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.55-36.76 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนได้ให้ความเห็นว่า เฟดอาจมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยลดลง นอกจากนี้ การย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้หนุนให้ราคาทอง (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) คำสามารถรีบาวด์ขึ้นมาทรงตัวแถวระดับ 1,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม โดยแม้ว่าจะยังมีประเด็นสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินบ้าง ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ได้แรงหนุนจากท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนซึ่งให้ความเห็นว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะย่อตัวลงบ้าง และช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ และหุ้นสไตล์ Growth ปรับตัวขึ้นต่อได้ (Tesla +1.5%, Nvidia +1.2%) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.52%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาพุ่งขึ้นกว่า +1.96% หนุนโดยท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด และธนาคารกลางยุโรป (ECB) บางส่วนที่ส่งสัญญาณพร้อมสนับสนุนการหยุดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งมุมมองดังกล่าว ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวต่างย่อตัวลงและช่วยให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวได้ดี (LVMH +3.2%, ASML +3.1%)
ในฝั่งตลาดบอนด์ ท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่ยังระมัดระวังต่อสถานการณ์สงครามและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่มองว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย ยังคงส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวใกล้ระดับ 4.65% โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นไปได้ว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ นี้ ทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อ อย่างไรก็ตาม เราคงแนะนำ Buy on Dip ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 105.7 จุด (กรอบ 105.6-106.1 จุด) โดยผู้เล่นบางส่วนอาจลดการถือครองเงินดอลลาร์ เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากทั้ง ทองคำ และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อาจเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่มี upside potential น่าสนใจกว่า นอกจากนี้เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่ระบุว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ได้ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นมาได้และแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรได้ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ สงครามจะขยายวงกว้างจนกระทบทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางหรือไม่
นอกจากนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งอาจช่วยสะท้อนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ ได้ และที่สำคัญ ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึง รายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes)
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้นกลับมาได้เร็วกว่าที่เราคาดไว้ หลังเงินบาทสามารถทยอยแข็งค่าผ่านโซนแนวรับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 36.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในช่วงนี้ ก็หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายเงินเยนญี่ปุ่นออกมาบ้าง (JPYTHB เกือบแตะระดับ 24.80 บาทต่อ 100 เยน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม) อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครอง จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ นี้
นอกจากนี้ ภาวะสงครามที่เกิดขึ้น หากทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ สงครามขยายวงกว้าง ก็อาจส่งผลให้ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ หรือ อย่างน้อยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท จากความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการค้า ซึ่งจะกดดันแนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ขณะเดียวกัน ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็อาจยังมีความผันผวนอยู่ (ล่าสุด นักลงทุนต่างชาติยังมีลักษณะการซื้อสุทธิ สลับกับการขายสุทธิ) ส่วนบรรดาผู้นำเข้า ก็อาจรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์บ้าง หลังเงินบาทสามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้
ทั้งนี้ เรายังคงประเมินโซนแนวต้านของเงินบาทไว้แถว 37.25 บาทต่อดอลลาร์ และคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากกว่า 37.50 บาทต่อดอลลาร์ (ตามที่เราได้ประเมินไว้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน) ขณะที่ หากเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นต่อได้ จนหลุดโซนแนวรับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ชัดเจน ก็อาจเห็นการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซน 36.25-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก โดยมีความเป็นไปได้ว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจนหลุดโซน 37.00 บาทต่อดอลลาร์ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มกลับมาเป็นฝั่ง Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) หากให้จุด stop loss ที่ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ จุดเริ่มขายทำกำไร แถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์
เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.35-36.65 บาท/ดอลลาร์