Economies

มอนิ่งสตาร์ชี้ปี 64 เงินไหลเข้ากองทุนรวม 2 แสนล. กองทุนเทศฮอต ส่องปีนี้ลงทุนยาก จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยถี่
18 ม.ค. 2565

มอนิ่งสตาร์ฯ ชี้ปี 64 กองทุนรวมโต 7.7% ดันมูลค่าทรัพย์สินสูง 4.3 ล้านล้านบาท เงินไหลเข้าสุทธิ 2 แสนล้าน เผยเฉพาะไตรมาส 4 เงินไหลเข้ากว่า7 หมื่นล. นำโดยกองทุนตราสารต่างประเทศและ RMF ระบุปีที่แล้ว ทั้งปี กอง Money Market ไหลออกสูง 1.1 แสนล้านหลังเกิดสัญญาณจุดเปลี่ยนดอกเบี้ยโลก  มองปี 65 เป็นปีลงทุนสร้างผลตอบแทนยากขึ้น จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยถี่ สกัดเงินเฟ้อสูงขึ้น  

 

นางสาวชญาณี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทมอนิ่งสตาร์รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในปี 2564 กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7% จากสิ้นปี 2020 โดยทั้งปีนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิ 2 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในไตรมาส 4 มีเงินไหลเข้ากว่า 7.2 หมื่นล้านบาท  ซึ่งหลักๆมาจากเงินไหลเข้ากองทุนตราสารทุนต่างประเทศ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)  ,กองทุน Money Market ขณะที่เงินไหลออกในกลุ่มกองทุนหุ้นไทยและกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว 

 

สำหรับมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนแต่ละประเภทและเงินไหลเข้า-ออกในปีที่แล้ว (ดูกราฟฟิกประกอบ) พบว่า กองทุนรวมตราสารทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดเป็นเม็ดเงินใหม่ถึง 2.6 แสนล้านบาท ขณะที่กองทุนตราสารหนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิ 4.4 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้สิ้นปี 2564 กองทุนหุ้นมีมูลค่าสินทรัพย์สูงถึง 1.62 ล้านล้านบาท นับเป็นปีแรกที่มีขนาดใหญ่แซงหน้ากองทุนตราสารหนี้ที่มีมูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 1.598 ล้านล้านบาท  

 

“ในรอบปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงที่ไม่ดีนักสำหรับกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งหลายกลุ่มกองทุนมีผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำสุดในรอบหลายปีจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไปจากในอดีต หลังสหรัฐเกิดภาวะเงินเฟ้อสูง ทำให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังที่เห็นทิศทางดังกล่าวชัดเจนขึ้นจึงทำให้กองทุนตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินรวมต่ำกว่า 1.6 ล้านล้านบาท หดตัวจากทั้งไตรมาสที่ 3 ที่ -1.1% แต่ก็ยังสูงกว่าปี 2020 ราว 3.0% คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดที่ 37% ในรอบไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกสุทธิ 1.0 หมื่นล้านบาท แต่รวมทั้งปียังคงเป็นทิศทางเงินไหลเข้าสุทธิ 4.4 หมื่นล้านบาท” นางสาวชญานีกล่าว  

 

นอกจากนี้ ปีที่แล้ว กองทุน Money Market หลังจากที่มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่อง 5 ไตรมาสต่อเนื่อง ก็ได้เริ่ม กลับมามีทิศทางเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา แต่ทั้งปีเป็นเงินไหลออก 1.1 แสนล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 6.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.4%

 

นางสาวชญานี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2564  กองทุนรวมตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 26.7% จากสิ้นปี 2020 โดยเกิดจากเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาสล่าสุด 6.2 หมื่นล้านบาท รวมทั้งปีสูงถึง 2.6 แสนล้านบาท ทำให้กองทุนรวมตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินรวมสูงสุดคิดเป็นสัดส่วน 38% ของอุตสาหกรรม 

 

 

กองทุนรวมตราสารทุนเติบโตหลักๆ จากกองทุนตราสารทุนต่างประเทศหลายๆกลุ่ม นำโดยกลุ่ม Global Equity ที่มีเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ตลอดทั้งปี ทำให้มูลค่าทรัพย์สินโดถึง 92% จากปี 2563 ด้านกองทุนหุ้นจีนแม้จะมีข่าวเชิงลบ ทำให้เงินไหลเข้าชะลอตัวในบางช่วง แต่โดยรวมยังเป็นเงินไหลเข้าทั้งปีเช่นกัน ดันมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 1.7 แสนล้านบาท เติบโต 45.8% จากปีก่อนหน้า

 

“ความนิยมการลงทุนต่างประเทศ ทำให้มูลค่าการลงทุนกองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 7.9 แสนล้านบาท สูงกว่าตราสารทุนไทยที่ 7.4 แสนล้านบาท โดยการลงทุนต่างประเทศมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปี 2563 และเริ่มชะลอตัวลงในช่วงกลางปีที่แล้ว ในขณะที่กองทุนตราสารทุนไทยค่อนข้างทรงตัวและหรือหดตัวลงในบางช่วง” นางสาวชญานีกล่าว  

 

ทั้งนี้ ภาพรวมของกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) ณ สิ้นปี 2564 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากไตรมาสที่ 3 หรือ 37.0% จากสิ้นปี 2563 โดยไตรมาส 4/64 มีเงินไหลเข้าอีก 5.4 หมื่นล้านบาท รวมทั้งปีเป็นเงินไหลเข้า 3 แสนล้านบาท เกือบทั้งหมดเป็นเงินจากกองทุนตราสารทุนต่างประเทศ

 

สำหรับกองทุนกลุ่ม Commodities มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.1 หมื่นล้านบาท มีเงินไหลเข้าสุทธิหลักร้อยล้านบาทในไตรมาส 4/64   โดยกองทุนทองคำและน้ำมันมีผลการดำเนินงานในทิศทางตรงกันข้ามคือ กองทุนน้ำมันมีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดในรอบปี ขณะที่กองทุนทองคำมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมากที่สุดเป็นอันดับ 6 อย่างไรก็ดีในรอบปีทั้งกองทุน 2 กลุ่มกองทุนต่างมีเงินไหลออกสุทธิในระดับใกล้เคียงกัน รวมกันเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4.7 พันล้านบาท 

 

นางสาวชญานี กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของกองทุนรวมไทยในปี 2564 ว่า  กลุ่มกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ Equity Large-Cap มีมูลค่าทรัพย์สิน 6.4 แสนล้านบาท โดยมีเงินไหลออกสุทธิในไตรมาสสุดท้าย และรวมทั้งปียังคงติดอันดับกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุดอันดับ 2 รวม 3.2 หมื่นล้านบาท  

 

ในส่วนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 3.6 แสนล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 5.3% จากสิ้นปี 2564 ตามทิศทางตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นในปีที่แล้ว  ขณะที่เงินไหลออกสุทธิเร่งตัวขึ้นในไตรมาสสุดท้ายที่ 5.3 พันล้านบาท รวมทั้งปีเงินไหลออกสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ กองทุน LTF ไม่มีการออกกองทุนใหม่หลังจากรัฐบาลยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตั้งแต่ปี 2562 

 

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% จากไตรมาสก่อนหน้า หรือสูงกว่าสิ้นปี 2563 ถึง 20.5% ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ยังคงมีเม็ดเงินไหลเข้าสูงเช่นทุกปีด้วยมูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท รวมทั้งปี 3.7 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปี 2563 ที่มีมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท 

 

การลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 6.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.7% จากไตรมาสที่ 3 และเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากปี 2020 โดยกองทุนส่วนใหญ่ได้ Morningstar Sustainability Rating ระดับ Average ขึ้นไป 

 

สำหรับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่มีเงินไหลเข้ามากสุด 3 อันดับแรกในรอบปี 2564  ได้แก่ บลจ.กสิกรไทย เงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดมูลค่ารวมราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในไตรมาสสุดท้ายมีเงินไหลเข้า 7.3 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินจากกองทุน RMF และ SSF ตามด้วยบลจ.เกียรตินาคินภัทร มีเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่า 3.7 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้ากองทุน  KKP Fixed Income Plus 2.6 หมื่นล้านบาท บลจ.กรุงศรีมีเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับ 3 รวม 3.6 หมื่นล้านบาท โดยมีกองทุน Krungsri Smart Fixed Income ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 2.8 หมื่นล้านบาท 

 

“ขณะที่บลจ.ไทยพาณิชย์และบลจ.บัวหลวงมีเงินไหลเข้าสุทธิในช่วงไตรมาสสุดท้ายจากฤดูกาลลงทุนกองทุนประหยัดภาษี  แต่หากดูในรอบปียังคงเป็น 2 บลจ.ที่มีเงินไหลออกมากที่สุดรวมมูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาทและ 1.1 หมื่นล้านบาทตามลำดับ"

 

สำหรับแนวโน้มการลงทุนกองทุนรวมในปี 2565 นางสาวชญานี กล่าวว่า หลักๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ซึ่งจะคอยกดดันการลงทุนในตลาดตลอดทั้งปี  โดยผลตอบแทนตราสารหนี้ลดลง โดยพบว่า ช่วง 1 ปีย้อนหลัง ผลตอบแทนเหลือเพียง 0.55% จากอดีตผลตอบแทนเฉลี่ยสูงเกิน 1% ในส่วนของตลาดหุ้น ได้รับผลกระทบในแง่มูลค่า (Valuation) ลดลง หากเฟดมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ดังนั้นจึงเป็นปีแห่งการลงทุนที่ยาก เพราะฉะนั้นจะต้องติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อที่มีภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยเฟดจำนวนกี่ครั้งในรอบปีนี้  


 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com