บสย. ชี้ปมหนี้นอกระบบ กดดัน 2 กลุ่มน่าห่วง ‘ลูกหนี้รายย่อย-ฟรีแลนซ์ ’ เร่งยื่นกลไกค้ำประกันสินเขื่อเอสเอ็มอีไซซ์เล็ก เติมสภาพคล่อง ดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนยาว หวังต่อลมหายใจลูกหนี้เดินหน้าธุรกิจ เผยปีหน้า ตั้งเป้าค้ำประกันกู้ให้ถึง 5 หมื่น ลบ. พร้อมแนะเทคนิคเข้าถึงเงินกู้แบงก์
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยถึงบทบาท บสย. ในการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีในปี 2568 ในงาน Econmass talk ep 2 หัวข้อ “Smart Credit Guarantee" จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา ว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยยังมีสัดส่วน 89-90% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) คิดเป็นมูลหนี้ 15-16 ล้านล้านบาท ซึ่งจะแบ่งเป็นหนี้นอกระบบ ราว 20% หรือมูลหนี้ 3.5-4 ล้านล้านบาท ซึ่งมี 2 กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มลูกหนี้นอกระบบและกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ (ฟรีแลนซ์) ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ บสย. จึงเข้ามาเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยค้ำประก้นให้ลูกหนี้ที่มีปัญหา ซึ่ง บสย.ดำเนินการมากว่า 30 ปี โดยส่วนใหญ่ การค้ำประกันจะอยู่ในกลุ่มรายย่อยถึง 90%ของยอดค้ำประกันรวม คิดเป็นยอดค้ำประกันเฉลี่ยรายละ 90,000 บาท และที่เหลือเป็นการค้ำประกันกลุ่มเอสเอ็มอี เฉลี่ยรายละ 4.78 ล้านบาท ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 46,775 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 398,998 ตำแหน่ง และก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 177,056 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2565 บสย. เริ่มมาตรการ ‘บสย. พร้อมช่วย’ เพิ่มอัตราการช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ปรับโครงสร้างหนี้ สูงถึง 142% จากที่ผ่านมา จำนวนรายสะสม 16,577 ราย มูลหนี้สะสม 10,636 ล้านบาท สามารถเพิ่มอัตรามูลหนี้เอสเอ็มอีที่ปรับโครฃสร้างหนี้ 129% เทียบจากที่ผ่านมา ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 33 ปี ส่วนธุรกิจที่ บสย. ค้ำประกัน 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มภาคบริการ สัดส่วน 28.8% ,กลุ่มการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 11.4% และ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 10% ซึ่งรวม 3 กลุ่มมีสัดส่วน 50%ของยอดค้ำประกันทั้งหมด
นายสิทธิกร กล่าวว่า ช่วง 10 เดือน ปีนี้ ทำยอดค้ำประกันสินเชื่อ 43,228 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ 76,840 ราย และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ ยอดค้ำประกันสินเชื่อแตะ 45,000 ล้านบาทภายใต้คาดการณ์เศรษฐกิจเติบโต 2.7% และตั้งเป้าปีหน้า แตะ 50,000ล้านบาท ภายใต้การณ์เศรษฐกิจเติบโต 3%
นายมนตรี ตั้ลประดิษฐ์ ผู้จัดการเขต สำนักงานเขตนครหลวง บสย. เปิดเผยถึงเทคนิคการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ว่า ปกติ การให้สินเชื่อของธนาคารจะอพิจารณาจากหลัก 5 C ได้แก่ Character (อุปนิสัยของลูกค้า) , Capital (เงินทุนของกิจการ) , .Capacity (ความสามารถในการชำระหนี้) , Collateral (หลักทรัพย์ค้ำประกัน) และ Condition (ปัจจัยภายนอก)
พร้อม 3 เคล็ดลับเติมสภาพคล่อง เอสเอ็มอี ได้แก่ การขอคำปรึกษจากศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs , การขอสินเชื่อธนาคาร โดยใช้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อ และการใช้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก ช่วยประหยัดต้นทุน
นายสิทธิกร กล่าวย้ำว่า ข้อดีของการขอสินเชื่อธนาคาร โดย บสย. ค้ำประกัน คือ ในกรณีลูกหนี้ฯค้างชำระ บสย.จะช่วยจ่ายค่าประกันชดเชย พร้อมมาตรการ ‘บสย. พร้อมช่วย’ คือ อัตราดอกดบี้ยต่ำสุด 0% ยืดระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 7 ปี ค่างวดเริ่มต้น 50 บาท และตัดเงินค้นก่อนดอกเบี้ย จะเห็นว่า บทบาท บสย. ช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ่น บสย.เปรียบเสมือนลมใต่ปีกให้เอสเอ็มอีเติบโตและพลิกฟื้นธุรกิจ แก้หนี้อย่างยั่งยืน